วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


บรรณารักษ์กับกฎหมายลิขสิทธิ์

  • ถ้าเราทำแล้วไม่ขึ้นเว็บ ใช้บริการแบบ off line ภายในห้องสมุดเท่านั้น ไม่น่าจะผิดนะคะ ก็เหมือนกับสมัยก่อนเราถ่ายเก็บเป็นไมโครฟิช ไมโครฟิล์ม เพื่ออนุรักษ์ คือแค่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น
  • ควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ ก็ไม่น่ามีปัญหา ใช้พวก DRM ช่วย อย่าง pdf ตอนนี้ ถ้าหา solution ดีๆ สามารถกำหนดวันหมดอายุของไฟล์ได้ กำหนดรหัสผ่านได้ พิมพ์ได้ แต่ copy ต่อไม่ได้อะไรพวกนี้นะครับ
  • ถ้าเราควบคุมการเผยแพร่ได้ ให้สามารถเปิดใช้ได้เฉพาะภายในห้องสมุด มีระบบ DRM ที่ดี เช่นเดียวกับฐานข้อมูลเมืองนอก มันก็ไม่เกินขอบเขตที่เหมาะสม ก็ยังเชื่อได้ว่า ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าหากเผยแพร่แบบ Internet โต้งๆ ใครๆ ก็เข้าไปเปิดได้ ขาดการควบคุม ผู้ใช้ copy เผยแพร่ต่อ ผลของเจตนาที่ดีของบรรณารักษ์ก็กลายเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ในทันที
  • ตามหลักของ First sale ถ้าซื้อมาแล้วก็เป็นสิทธิ์ของเราครับ ที่จะทำอะไรก็ได้ตราบใดที่ไม่ละเมิดข้อตกลงใดๆที่กระทำร่วมกันก่อนที่เราจะคลิกซื้อ (เพราะงั้นดูเงื่อนไขดีๆ ก่อนที่จะคลิก I accept ใดๆ) ปัจจุบันมีเทคโนโลยี DRM ที่ไฟล์ดิจิทัลใดๆที่ซื้อหรือโหลดมาจะเปิดได้เฉพาะบนเครื่องนั้นๆเท่านั้น ซึ่งจะเอามาอุดช่องโหว่ของการโอนไฟล์ให้กันและกันนี่แหละครับ การส่งลิงค์ไม่มีปัญหา แต่การส่งไฟล์นี่อย่าลืมว่าเป็นการทำสำเนาอย่างหนึ่งนะครับ คงต้องดูเป็นเงื่อนไขไปว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เค้าโอเคหรือเปล่า แต่ไฟล์สองไฟล์โทษน้อยมาก อย่าซีเรียสเลยครับ
จากกลุ่มพูดคุย แสดงให้เห็นว่า "เป็นการให้ความเห็นด้วยความคิดเห็นส่วนตัว" และมักจะใช้คำว่า "ไม่น่าจะมีปัญหา" อันเป็นการสร้างความเสี่ยงให้ตนเอง เพราะการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ เกิดจากผู้ฟ้องร้องซึ่งมักจะเป็นเจ้าของสิทธิ์ดำเนินการฟ้องร้อง เราไม่สามารถไปห้ามเค้าได้ ดังนั้นคำว่า "ไม่น่าจะมีปัญหา" จึงอาจจะกลายเป็น "ดาบ" กลับมาหาคนที่พูดก็ได้ และอาจจะไม่เตรียมพร้อมตั้งรับหากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาจริง
หากลองพิจารณาตัวบทกฎหมายจริงๆ แล้ว จะพบว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้กล่าวถึง "บรรณารักษ์" ไว้ในมาตรา 34 คือ
"การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
            (1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
            (2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา"
โดยจากการพูดคุยพบว่า หลายท่าน จะตัดตอนเฉพาะข้อ 1 และ ข้อ 2 มาใช้ คือ สามารถทำได้เมื่อเป็นการทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น และเมื่อเป็นการทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา โดยลืมไปว่า วรรคแรกของมาตรา 34 ได้กล่าวถึงวรรคแรกของมาตรา 32 ด้วย ซึ่งมีใจความ ดังนี้
"มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์"
โดยคำสำคัญของวรรคแรกในมาตรา 32 ที่เจ้าของสิทธิ์มักจะนำมาใช้ในการฟ้องร้องคือ คำว่า "ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์....ตามปกติ" และ "ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิ...เกินสมควร" 
ซึ่งจากคำสำคัญข้างต้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องโดยจัดทำ "คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม" ขึ้นมาหลายฉบับ โดยจุดสำคัญของคู่มือคือ หลักเกณฑ์การพิจารณาการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ซึ่งมีใจความสำคัญคือ 
" พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้บัญญัติเรื่องข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ในมาตรา 32 โดยกำหนดให้การใช้งานลิขสิทธิ์ในบางลักษณะสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นการใช้ที่เป็นธรรม เช่น การใช้งานในการเรียนการสอน การเสนอรายงานข่าว หรือการใช้งานโดยบรรณารักษ์ห้องสมุด เป็นต้น แต่การใช้งานลิขสิทธิ์ดังกล่าวตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้จะต้องอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ ประกอบกันคือ
1) ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ
2) ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร"
ดังนั้นหากบรรณารักษ์ท่านใด อ่าน พรบ.ลิขสิทธิ์ เฉพาะมาตรา 34 โดยไม่โยงไปวรรคแรกของมาตรา 32 ก็คงเป็นการสร้างความเสี่ยง "จากการตีความเข้าข้างตนเอง" ได้ 

ที่มาhttp://www.stks.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น