วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ห้องสมุดล่องหนหายตัว


ห้องสมุดล่องหนหายตัว

เชื่อหรือไม่ว่าห้องสมุดในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีหนังสืออยู่เลยแม้แต่เล่มเดียว นั่นคือแนวคิดของห้องสมุดล่องหน ที่เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายประเทศรวมถึงในประเทศไทย

 หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า บรรณารักษ์ห้องส่งหนังสือไปสแกนเพื่อเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัลบรรจุลงในคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นคลังหนังสือดิจิทัล และยังเปลี่ยนรูปแบบการยืมคืนผ่านเว็บไซต์แทน โดยที่นักอ่านไม่ต้องลำบากเดินทางมาห้องสมุดเหมือนก่อน

 สุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า โจทย์ของห้องสมุดกำลังเปลี่ยนไป กลายเป็นตลาดความรู้ในรูปแบบดิจิทัล โดยข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ แทนที่จะอยู่ในชั้นหนังสืออย่างที่ผ่านมา
  เธอมองว่า อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างคินเดิล และไอแพดกำลังสร้างให้เกิดปรากฏการณ์การอ่านในรูปแบบใหม่ ที่สามารถค้นหาหนังสือที่สนใจได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต หรือแม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่
 “พฤติกรรมของคนที่ต้องการหาข้อมูลที่สนใจจากหนังสือสักเล่ม เขาไม่ได้เดินเข้ามาที่ห้องสมุดหรือเข้ามาที่หน้าเว็บโดยตรง แต่จะค้นหาผ่านระบบสืบค้นข้อมูลอย่าง กูเกิล นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น" เธอกล่าวว่า ห้องสมุดอาจไม่จำเป็นต้องมีหนังสือวางไว้บนหิ้ง หรือชั้นหนังสือที่วางเรียงรายจนต้องขยายพื้นที่ มีเพียงคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงคลังหนังสือทั้งหมดในห้องสมุดแถมค้นหาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมยกตัวอย่าง www.stks.or.th หนึ่งในเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้นักอ่านออนไลน์ตัวจริงได้สัมผัส
 แม้การอ่านหนังสือในรูปแบบดิจิทัลอาจลดทอนเสน่ห์ของการอ่านหนังสือในรูปแบบเดิม ขาดอรรถรสการสัมผัสเนื้อกระดาษจากที่เคยได้ลูบคลำหนังสือให้หมดไป แต่เธอกลับยืนยันว่า ในแง่มุมของการอนุรักษ์ การเผยแพร่ข้อมูลที่เคยถูกเก็บเป็นกระดาษ ในรูปแบบดิจิทัลจะช่วยให้ข้อมูลขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น
 สุภาพรยอมรับว่า ห้องสมุดที่ไม่มีหนังสืออยู่เลยจะไม่ได้มาแทนที่ห้องสมุดในรูปแบบเดิม เพราะการศึกษาของคนไทยไม่เอื้อกับการไม่มีหนังสือต่างกับในต่างประเทศ ดังนั้นห้องสมุดจริงจำเป็นจะต้องมีอยู่ ในขณะที่ห้องสมุดแบบใหม่จะเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น จากที่เคยยืมหนังสือได้คนละเล่ม พอเป็นไฟล์ดิจิทัลสามารถยืมได้พร้อมกัน
 หนังสือยังสามารถเข้ารหัสป้องกันพวกชอบโหลดไฟล์หนังสือไปเก็บไว้โดยไม่ได้เปิดอ่าน มีวิธีการตัดช่วงเวลาการใช้ จำกัดระยะเวลาในการยืม คืน เสมือนห้องสมุดในรูปแบบเดิม
 ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหนังสือที่มีอยู่อย่างไรเมื่ออีบุ๊กเข้ามาแทนที่ จะผลิตหนังสือในรูปของไฟล์ดิจิทัล หรือจะเลือกสแกนหนังสือทั้งเล่ม เพื่อให้บริการดาวน์โหลดบนเว็บไซต์แทน
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น