วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ซอฟต์แวร์ต่อยอดการเรียนรู้แท็บเล็ต - ฉลาดทันกาล




การใช้แท็บเล็ต (Tablet) โดยให้ผู้เรียนและผู้สอนมีแท็บเล็ตพีซีเป็นของตนเองอย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิผล โดยพบว่าการใช้แท็บเล็ตเป็นการสร้างแรงจูงใจของผู้เรียนและมีผลกระทบในทางบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อีกทั้งช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองเข้าถึงองค์ความรู้นอกห้องเรียนอย่างได้กว้างขวาง และตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้จัดโครงการหนึ่งคอมพิวเตอร์ หนึ่งนักเรียน หรือ One Tablet PC Per Child นั้น ขณะนี้มีนักเรียนได้รับแท็บเล็ตไปแล้วทั้งสิ้น  179,984 คน 
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการต่อยอดการใช้แท็บเล็ตของนักเรียน โดยการนำระบบ Learning Management System หรือ LMS มาใช้ควบคู่กับการเรียนการสอนในแท็บเล็ต ระบบดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ ประกอบด้วยเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ดูแลระบบ โดยผู้สอนสามารถนำเนื้อหาและสื่อการสอนใส่ไว้ในโปรแกรมได้สะดวก ผู้เรียนและผู้สอนสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารที่ระบบจัดไว้ให้ได้ทุกองค์ประกอบ มีการเก็บบันทึกข้อมูล กิจกรรมการเรียนของผู้เรียนไว้บนระบบเพื่อผู้สอนสามารถนำไปวิเคราะห์ ติดตามและประเมินผลการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายว่า บริษัท ซัมซุง จำกัด ได้มานำเสนอระบบซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานกับเครื่องแท็บเล็ต เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีทิศทางในการจัดทำโครงการนำร่องต่อยอดการใช้แท็บเล็ตตามโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาไทยของรัฐบาล เพราะต้องการเพิ่มศักยภาพการใช้งานแท็บเล็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย สพฐ. จะนำระบบ Learning Management System หรือ LMS ซึ่งเป็นระบบที่ช่วย
บริหารจัดการการเรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ประกอบไปด้วยเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สอน ผู้เรียน เช่น ผู้สอนสามารถจัดการเนื้อหาบทเรียนเองได้
ระบบนี้จะช่วยให้การเรียนการสอนในห้องเรียนมีการเชื่อมโยงระหว่าง ครูผู้สอนและนักเรียนได้ เช่น ครูจะติดตามความรู้ความสามารถการใช้งานแท็บเล็ตของเด็กแต่ละคน รวมทั้งระบบยังสามารถเก็บข้อมูลการเข้าเรียนเเละคะแนนการทำบททดสอบ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ติดตาม เเละประเมินผลการเรียนการสอนในรายวิชานั้น ๆ ได้ ซึ่งเท่ากับว่าระบบนี้จะทำให้การเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า  ทั้งนี้ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่เข้าถึงเนื้อหาโดยเฉพาะระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจะเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีโอกาสสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ มานำเสนอเพื่อบรรจุใส่ในแท็บเล็ตของนักเรียนได้เหมือนเปิดโลกคอนเทนต์ให้กว้างมากขึ้น ซึ่ง สพฐ.จะมีการทดสอบการใช้งานกับโรงเรียนที่มีพื้นที่แตกต่างกันออกไปพร้อมอุปกรณ์เสริมในการเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้ดังนั้นเรื่องนี้จะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ต้องรอให้มีระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือไวไฟ ก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะเริ่มเดินหน้าประมาณเดือนพฤศจิกายน– ธันวาคม 2555  โดยจะนำร่องในโรงเรียน 10 โรง หากประสบความสำเร็จก็จะขยายผลให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้เราจะคัดเลือกผลงานของครูที่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนเก่ง ๆ ขึ้นเว็บไซต์ สพฐ. เพื่อให้เป็นต้นแบบของครูคนอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนของตนเองได้
ผลลัพธ์ของการเรียนรู้แบบดิจิทัลจะสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ช่วยปลูกฝังกระบวนการคิด วิเคราะห์ การศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมของเด็กไทยให้มีคุณภาพได้หรือไม่ เพราะนาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าคอมพิวเตอร์กลายเป็นสื่อหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมไปแล้ว.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/technology/150713 

1 ความคิดเห็น: