วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ห้องเรียนออนไลน์สมัยใหม่



ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจะเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในแวดวงการศึกษาที่คนในวงการเชื่อกันว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างใหญ่ต่อการศึกษาเลยทีเดียว ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือการเกิดขึ้นของห้องเรียนออนไลน์ ที่เรียกว่า Massively Open Online Course (MOOC) เป็นจำนวนมาก MOOC เป็นห้องเรียนออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบเปิด หมายความว่าใครอยากจะเข้าเรียนก็ได้ โดยที่ผู้เรียนจะใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อเข้าไปดูวิดีโอการบรรยายและร่วมทำแบบฝึกหัด หรือร่วมสนทนากับนักเรียนคนอื่น ๆ
   
คำว่า Massively ในชื่อของ MOOC นั้นเน้นถึงลักษณะที่มีผู้เข้าร่วมเรียนเป็นจำนวนมากในแต่ละวิชา ซึ่งคำว่ามากในที่นี้หมายถึงหลักหลายหมื่นคนขึ้นไป โดยแนวคิดแล้ว MOOC ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างเช่น การศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนั้นเองก็เรียกได้ว่าเป็น MOOC เหมือนกัน แต่อาจจะไม่ได้มีความเป็น “ออนไลน์” เท่า MOOC
   
ปัจจุบันมี MOOC เกิดขึ้นมากมาย โดยแต่ละหลักสูตรนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรและมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ตัวอย่าง MOOC ในยุคแรก ๆ เช่น MIT Open Course Ware ซึ่งเป็นการนำเอาวิดีโอการบรรยายและสื่อการเรียนการสอนของวิชาที่เปิดสอนใน MIT (มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ) มาเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมี MOOC ที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ Khan Academy (www.khanacademy.org) ก่อตั้งโดย Salman Khan ซึ่งเปิดสอนหัวข้อในระดับมัธยม Udacity (www.udacity.com) ร่วมก่อตั้งโดยอดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด สองท่านคือ Sebastian Thrun และ Peter Norvig ซึ่งเปิดสอนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Coursera (www.coursera.org) ร่วมก่อตั้งโดย Andrew Ng และ Daphne Koller จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสุดท้าย edX (www.edx.org) ซึ่งร่วมก่อตั้งโดย  MIT และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดโดยมี Anant Agarwal เป็นผู้ดูแล
   
MOOC นั้นเป็นเรื่องที่นักลงทุนให้ความสนใจมากเช่นเดียวกัน MOOC ต่าง ๆ ข้างต้นนั้นต่างก็ได้รับการลงทุนจาก venture capital เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น Coursera นั้นได้รับเงินลงทุนตั้งต้นกว่า 600 ล้านบาท หรือ Udacity ที่ได้รับทุนตั้งต้นอยู่ที่กว่า 450 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบัน MOOC เหล่านี้เปิดให้บริการหลักสูตรต่าง ๆ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเรียนและเข้าร่วมการเรียนการสอนได้ทันที เหตุที่ MOOC ได้รับเงินลงทุนเป็นจำนวนมากจาก venture capital ก็อาจจะเป็นเพราะ MOOC ถูกมองว่าเป็นคำตอบของการศึกษาในอนาคตก็เป็นได้
   
สิ่งที่ MOOC แตกต่างจากการศึกษาทางไกลแบบเก่านั้นคือการที่ MOOC เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อินเทอร์เน็ตและระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น Khan Academy นั้นใช้วิดีโอการสอนร่วมกับการทำแบบฝึกหัดต่าง ๆ ผ่านเว็บ โดยที่แบบฝึกหัดเหล่านั้นจะมีการตรวจอัตโนมัติโดยคอมพิวเตอร์ในทันที ทำให้การเรียนรู้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นกว่าการนั่งเรียนในห้องและตรวจการบ้านโดยอาจารย์ที่จะต้องเสียเวลาในการตรวจ
   
นอกจากนี้การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำให้อาจารย์สามารถเก็บข้อมูลการเรียนของนักเรียนได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นการวัดผลว่านักเรียนดูวิดีโออันใดซ้ำมากครั้งเป็นพิเศษ หรือว่าใช้เวลากับโจทย์ใดมาก ทำให้รู้ได้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความเก่งหรือความไม่ถนัดในเรื่องใดหรืออย่าง Coursera ที่ทำการวิเคราะห์แบบฝึกหัดที่มีนักเรียนทำผิดเป็นจำนวนมากเพื่อหาว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่นักเรียนเข้าใจผิด และทำให้ระบบสามารถให้คำแนะนำกับนักเรียนที่ตอบผิดได้ทันทีว่าเนื้อหาที่นักเรียนคนนั้นน่าจะเข้าใจผิดคืออะไร
   
เราทราบกันดีว่าการเรียนในห้องเรียนแบบบรรยายในห้องเรียนนั้นมักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าการเรียนแบบตัวต่อตัวระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือผู้สอนในแบบการบรรยายในห้องเรียนนั้นไม่มีเวลามากพอที่จะทำความเข้าใจนักเรียนแต่ละคน หรือแนะนำนักเรียนให้ตรงกับความไม่เข้าใจของแต่ละคนได้ MOOC สมัยใหม่เหล่านี้พยายามที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลที่เหมือนกับการเรียนตัวต่อตัวมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาช่วย ดังจะเห็นได้จากรายชื่อของผู้ก่อตั้ง MOOC ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นแทบทุกคนเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ทั้งหมด


ที่มา นัทที นิภานันท์   ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.facebook.com/1001FanPage

1 ความคิดเห็น:

  1. ได้รู้ว่าในยุคสมัยใหม่ได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านการศึกษา ได้ความรู้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

    ตอบลบ