วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภัยคุกคามอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น81%เผยไทยติดอันดับฐานทำเว็บปลอม

ไทยเซิร์ตเผยไทยถูกใช้เป็นฐานทำเว็บไซต์ปลอมอันดับ 3 ของโลก ด้านไซแมนเทครายงาน ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต ยังเพิ่มสูงขึ้น 81% ขยายไปยังองค์กรเล็กมากขึ้น

นายประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ไซแมนเทค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากรายงานภัยคุกคามด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต (Internet Security Threat Report) ฉบับที่ 17 ของไซแมนเทค พบว่าในปี  2554 การโจมตีทางอินเทอร์เน็ตโดยอาชญากรไซเบอร์ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นถึง 81% โดยบริษัทได้ปิดกั้นการโจมตีที่เป็นอันตรายกว่า 5,500 ล้านครั้ง และจำนวนมัลแวร์ยังเพิ่มเป็น 403 ล้านรูปแบบ ขณะที่จำนวนการโจมตีเว็บต่อวันเพิ่มขึ้น 36% นอกจากนี้การโจมตีแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 77 ครั้งต่อวัน เป็น 82 ครั้งต่อวัน โดยใช้วิธีการล่อหลอกเหยื่อและมัลแวร์ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ซึ่งอดีตจะพุ่งเป้าไปที่องค์กรภาครัฐและหน่วยงานราชการ แต่ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ยังพุ่งเป้าไปยังองค์กรที่มีพนักงานน้อย

นายประมุท กล่าวต่อว่า ปัญหาข้อมูลรั่วไหลจากอุปกรณ์สูญหายถือเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับอนาคต โดยในปี 2554 ข้อมูลประจำตัวผู้ใช้ราว 232 ล้านรายการ ได้ถูกโจรกรรมหรือเฉลี่ยประมาณ 1.1 ล้านรายการต่อเหตุการณ์ ส่วนการเจาะระบบส่งผลให้มีการเปิดเผยข้อมูลประจำตัวผู้ใช้ 187 ล้านรายการ สาเหตุหลักของปัญหาข้อมูลรั่วไหลคือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยูเอสบีหรืออุปกรณ์แบ๊กอัพ ถูกโจรกรรมหรือการสูญหาย

ด้าน ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือไทยเซิร์ต ที่ได้รับแจ้งตั้งแต่ ก.ค. 2554-เม.ย. 2555 การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเป็นภัยคุกคามที่ได้รับแจ้งมากที่สุด รองลงมาคือโปรแกรมไม่พึงประสงค์ (Malicious
Code) การพยายามรวบรวมข้อมูล และการพยายามบุกรุกเข้าระบบตามลำดับ โดยการหลอกลวงที่ได้รับแจ้งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีเว็บไซต์ปลอม (Phishing)
โดยเกี่ยวกับเรื่องการเงินและธนาคาร

“ครึ่งหลังของปี 54 ไทยเซิร์ตรับแจ้งเรื่องเว็บไซต์ปลอมหรือหลอกลวงประมาณ 309 เรื่อง เมื่อได้รับแจ้งจะประสานไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ปิดกั้นเว็บไซต์ทันที โดยมีค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐานของเวลาอยู่ที่ประมาณ 36 และ 12 ชั่วโมงตามลำดับ โดยผลกระทบของเว็บไซต์ปลอมจะมีในช่วง 3 วันแรก ซึ่งสถิติในต่างประเทศหากเว็บไซต์หลอกลวงอยู่เกิน 72 ชั่วโมงสามารถทำความเสียหายได้สูงถึง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งเว็บไซต์ และสิ้นปีที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศที่ถูกใช้เป็นฐานการทำเว็บไซต์ปลอมติดอันดับ 3 ของโลก ทางไทยเซิร์ตตั้งเป้าหมายจะทำให้ไทยหลุดจาก 10 อันดับแรกให้ได้ภายในระยะ 2 ปีต่อจากนี้” ดร.ชัยชนะกล่าว.


ที่มา  http://www.dailynews.co.th/technology/117222

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น