วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มองตลาด "ไอซีที" ไทย ครึ่งปีหลังฟื้นหรือฟุบต่อ


อุทกภัยปลายปีที่ผ่านมาตลาดไอทีไตรมาสแรกปีนี้จึงไม่สู้จะสดใสนัก แต่หลายฝ่ายมองว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 ทั้งกำลังซื้อทั้งความสามารถในการผลิตจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง 

"อรรถพล สาธิตคณิตกุล" ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษา ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวถึงตลาดไอทีในช่วงต้นปี 2555 ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคช่วงที่ผ่านมายังทรง ๆ ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ตกลงไปมากเหมือนไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คอนซูเมอร์เทคโนโลยีในช่วงต้นปีไม่มีอะไรใหม่มาก แค่อัลตร้าบุ๊ก, ไอโฟน 4 เอส และนิวไอแพด แต่ถ้าแอปเปิลยกระดับตลาดประเทศไทยเป็นเซกันด์เทียร์จริงตามที่มีการพูดกันหลังสงกรานต์หรือต้นไตรมาส 2 คงได้เห็นสีสันจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น 

สำหรับโทรคมนาคมไตรมาสแรก โอเปอเรเตอร์แข่งนำเสนอแพ็กเกจดาต้าเซอร์วิส โดยเฉพาะแพ็กเกจขายพ่วงสมาร์ทโฟนและแท็บเลต มีลดราคา 50% 

"ตลาดไอทีไทยไตรมาส 2 เป็นต้นไปคงแข่งขันแยกกันระหว่างลูกค้าองค์กรและกลุ่มผู้บริโภค โดยในกลุ่มองค์กรมีการลงทุนปรับปรุงระบบและซิสเต็มอินฟราสตรักเจอร์ เช่น ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ทั้งเรื่องคลาวด์คอมพิวติ้ง และบิสซิเนสคอนตินิวอิตี้กับดิสแอสเตอร์รีคัฟเวอรี่ที่จะโตต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มผู้บริโภคสมาร์ตดีไวซ์อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเลตจะเป็นตัวเอก มีการแข่งขันชัดเจนดุเดือดขึ้นครึ่งปีหลังอาจเห็นสงครามราคา" 

"อรรถพล" กล่าวว่า ภาพรวมตลาดไอทีในปีนี้คงเติบโตเป็นเลขสองหลักต้น ๆ ทั้งเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ผลิต ปัญหาซัพพลายฮาร์ดดิสก์คงกลับมาเป็นปกติกลางไตรมาส 2 และกลับมาพอดีกันในไตรมาส 3 เป็นช่วงปีงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐ และการประมูลคลื่น 3 จี 2.1 จิกะเฮิรตซ์ ดังนั้นโอเปอเรเตอร์คงเดินหน้าลงทุนเต็มสูบ ขณะที่บรรดาโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะกลับมาลงทุนด้านไอทีเต็มที่ 

การประมูลคลื่นความถี่ 3 จี 2.1 GHz ในปีนี้เป็นผลดีเรื่องความเร็วแบนด์วิดท์และการแข่งขันดาต้าเซอร์วิส แต่หากการประมูลงไม่เสร็จปีนี้ ภาครัฐควรประมูลคลื่นความถี่เทคโนโลยีใหม่ เช่น 4 LTE ควบคู่ไปกับ 3 จี เพื่อไม่ให้ไทยช้าไป 

ด้าน ดร.มนสินี กีรติไกรศร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอสท์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า เท่าที่คุยกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมพบว่าโครงสร้างพื้นฐานฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นกันกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เริ่มฟื้นในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ 

สิ่งที่น่าสังเกตคือจำนวนผู้สมัครใช้บริการด้านโมบายล์ดาต้าช่วงน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ใช้ในบ้านไม่ได้ แต่มีกลุ่มผู้ใช้งานหน้าใหม่ด้วย หลังเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ จำนวนผู้ใช้ก็ไม่ได้ลดลง หมายความว่า ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเงินกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะหนึ่งคนใช้อินเทอร์เน็ตจากหลายรูปแบบ 

สำหรับประเด็นเรื่องกำลังซื้อ ดร.มนสินีมองว่า สินค้าที่อยู่ในเทรนด์การเติบโตก็ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เช่น กลุ่มสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมปีที่แล้ว เนื่องจากมีเรื่อง

แอปพลิเคชั่น และระบบการใช้งานที่รองรับแบบครบวงจรทำให้ผู้บริโภคอยากซื้อ นอกจากนี้กลุ่มองค์กรมีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้น

แต่ในส่วนซัพพลายฮาร์ดดิสก์น่าจะฟื้นตัวกลับมาไม่ถึง 50% คาดว่าจะดีขึ้นได้ไตรมาส 3-4 

ดร.มนสินีให้ข้อมูลว่า ตลาดอุปกรณ์ไอทีในประเทศไทยปีนี้จะโตประมาณ 10% หากไตรมาส 3 และ4 ไม่มีเหตุการณ์อะไร สภาพเศรษฐกิจและโครงการภาครัฐ

เดินหน้าต่อได้ก็น่าจะเติบโตสูงกว่านี้ เนื่องจากตลาดไอทีมารถเติบโตได้ด้วยตนเอง ปัจจัยหลักที่น่าจะเป็นอุปสรรคเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ ส่วนภาพรวมโทรคมนาคมในปีนี้

โอเปอเรเตอร์ลงทุนระบบ 3 จี มากทำให้ตลาดตื่นตัว คาดว่าการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือจะเริ่มมากขึ้นในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า 

"ถ้าการประมูล 3 จียังไม่เกิดปีนี้คงส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอาจไม่ถึงเป้าตามที่รัฐบาลตั้งไว้ ตอนนี้เหมือนภาพรวมตลาดจะอยู่ในการเตรียมแผนสองกันแล้ว สังเกตได้จากฝั่งโอเปอเรเตอร์หันมาลงทุน 3 จี คลื่นเดิม หาก 3 จี 2.1 จิกะเฮิรตซ์เกิดขึ้นทันในปีนี้ก็จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะต้องติดตั้ง, ทำโมเดลธุรกิจ และทำตลาดรวมๆ แล้วน่าจะต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในตลาด"


ที่มา  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1335088031&grpid=&catid=06&subcatid=0600

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น