วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชั้นหนังสือล่องหน ด้วยมนตร์นักวิทย์


ชั้นหนังสือล่องหน ด้วยมนตร์นักวิทย์


แปลกไหมถ้าเดินเข้าไปในห้องสมุดแล้วมองไม่เห็นหนังสือแม้แต่เล่มเดียว นั่นไม่ใช่ภาพจากจินตนาการ เพราะ Bookless Library หรือห้องสมุดล่องหน อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคมัลติมีเดีย โดยภาพของ Bookless Library เกิดขึ้นจริงแล้วในหลายประเทศ ไม่เว้นแม่แต่ในประเทศไทย

แนวคิดการสร้าง Bookless Library มาถึงแล้วในบ้านเรา คำพูดนี้ฟันธงได้จากหนังสือกองโตในห้องสมุดของนักวิจัยที่เริ่มขยับขยาย แปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลบรรจุลงในเซิร์ฟเวอร์ และเปลี่ยนรูปแบบการยืมคืนให้อยู่บนหน้าเว็บไซต์แทน

สุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า โจทย์ของ STKS คือการเปลี่ยนแนวคิดห้องสมุดในรูปแบบใหม่ หรือ Marketplace of Knowledge ทุกองศาความรู้สัมผัสได้ โดยเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ www.stks.or.th

ในมุมมองของบรรณารักษ์ยุคดิจิทัล เธอยอมรับว่า สื่อใหม่มีบทบาทมากจนที่ทำให้คนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่าน E-Book Reader อย่าง Kindle และ iPad สร้างให้เกิดปรากฏการณ์การอ่านในรูปแบบใหม่ ที่สามารถค้นหาหนังสือที่สนใจได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์พกพาอย่างแท็ปเล็ต หรือแม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา


ห้องสมุดเปลี่ยนไป

อนาคตของห้องสมุดอาจไม่จำเป็นต้องมีหนังสือวางไว้บนหิ้ง หรือชั้นหนังสือที่วางเรียงรายจนต้องขยายพื้นที่ มีเพียงคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงคลังหนังสือทั้งหมดในห้องสมุด แถมค้นหาได้อย่างรวดเร็ว จากความตั้งใจเดิมของ STKS ที่ต้องการสร้างศูนย์กลางความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2550 โดยพยายามสร้างโชว์รูมของนักวิจัย ที่อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลงาน นำมาย่อยให้อ่านง่ายเพื่อผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถจับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ได้มากขึ้น

ณ ปัจจุบัน ความตั้งใจดังกล่าวดูจะไม่เพียงพอ เพราะบทบาทของห้องสมุดยุคดิจิทัลเริ่มขยายตัวออกไป จำเป็นต้องมีภารกิจเพิ่มเติมในแง่ของการพัฒนาเนื้อหาที่เข้าถึงง่าย ข้อมูลที่เคยถูกเก็บเป็นกระดาษ จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปดิจิทัลเพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ขยายออกไปในวงกว้าง

"พฤติกรรมของคนที่ต้องการหาข้อมูลที่สนใจจากหนังสือสักเล่ม เขาไม่ได้เดินเข้ามาที่ห้องสมุดหรือเข้ามาที่หน้าเว็บโดยตรง แต่จะค้นหาผ่านระบบเสิร์ชเอ็นจิ้น อย่าง กูเกิล นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น" เธอกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้การอ่านหนังสือในรูปแบบดิจิทัลอาจลดทอนเสน่ห์ของการอ่านหนังสือในรูปแบบเดิม ขาดอรรถรสการเสพ จากที่เคยได้ลูบคลำหนังสือให้หมดไป แต่เธอกลับยืนยันว่า ในแง่มุมของการอนุรักษ์ การเผยแพร่ข้อมูลที่เคยถูกเก็บเป็นกระดาษ ในรูปแบบดิจิทัลจะช่วยให้ข้อมูลขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น

"หนังสือหลายเล่มมีคุณค่า เป็นหนังสือเก่าที่เก็บอนุรักษ์ไว้อย่างดีจนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้เห็น หนังสือดีอาจหลงไปอยู่ในก้นหลืบของห้องสมุดที่ไหนก็ไม่รู้"


เธอให้มุมมองในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในสถาบันวิทยบริการที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และว่า หนังสือหายากยิ่งต้องรีบทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพราะถ้าจะรอให้นักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดีมาทำ นับวันกระดาษก็จะมีแต่ผุพังไป กร่อน ขาด รอแมลงและหนอนหนังสือมากัดกิน การรมควันตามเทคนิคการอนุรักษ์ของหอสมุดแห่งชาติ หรือหอจดหมายเหตุ อาจจะยื้อได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ทำอะไรเลยสักวันหนังสือที่มีคุณค่าก็อาจจะสูญหายไป

เทคโนโลยีช่วยสร้างคลังหนังสือ

สิ่งสำคัญที่สุดของการทำห้องสมุดดิจิทัล จำเป็นต้องมีกระบวนการเก็บ หรือดิจิไทส์ ไปอีกรูปแบบหนึ่งสามารถเก็บสื่อเผยแพร่ได้ถ้าไม่ติดปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์ ตลอดจนเซอร์เวอร์ที่สามารถรองรับฐานข้อมูลที่ในอนาคตจะต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้นักพัฒนาห้องสมุคในยุคใหม่จำเป็นต้องศึกษาเทคโนโลยี และพัฒนาทีมงานระบบที่สามารถรองรับการค้นหาข้อมูลได้ทุกรูปแบบ

ที่ผ่านมาทีมสารสนเทศ STKS ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม อาทิ การค้นหาคลังคำศัพท์ด้วยเทคนิคการสร้างระบบค้นหา กลั่นกรองหรือตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงเทคโนโลยี OAI URL ที่สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบเปิดของห้องสมุดต่างๆ เข้ามารวมในฐานข้อมูลเดียวกันได้ นั้นเป็นโจทย์นอกเหนือจากการให้บริการเพียงอย่างเดียว

"ปัญหาของการสร้างคลังหนังสือออนไลน์ คือเรื่องของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในหนังสือแต่ละเล่ม ทำให้ฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ ส่วนใหญ่มักออกมาเป็นรายละเอียดในเชิงบรรณานุกรมมากกว่าเนื้อหาจากหนังสือทั้งเล่ม" เธอกล่าวยอมรับ

แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบัน STKS ได้รวบรวมเนื้อหามีอยู่ทั้งหมด สร้างคลังเอกสารที่เป็น full text องค์ความรู้หลายด้านโดยเริ่มต้นจากหนังสือที่เป็นลิขสิทธิ์องค์กรเอง เช่น คลังศัพท์ไทย อีเลิร์นนิ่ง นอกจากนี้ยังได้รวบรวมคลังข้อมูลวิทยานิพนธ์แห่งแรกในประเทศไทย รวมฐานข้อมูลไว้ใน www.thaithesis.or.th เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีอัตราการเข้าใช้วิทยานิพนธ์ค่อนข้างสูงมาก  จากเป้าหมายของ STKS ที่วางไว้ในตอนแรก คือยอดผู้เข้าชมที่ 3 หมื่นเพจวิวต่อวัน ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังทำได้เพียง 1 หมื่นเพจวิวต่อวัน แต่ ณ ปัจจุบัน พวกเขากำลังมองถึงการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้นผ่าน เครื่องมือในการอ่านของยูเซอร์เจนเนอร์เรชั่นใหม่ ในมุมของ iPad ที่จะเข้ามาช่วยเปิดโลกการอ่านให้กว้างขึ้น

"ณ ตอนนี้เราอาจต้องเพิ่มระบบ DRM หรือ Digital Write Management เข้าไปใน Bookless Library เพื่อให้รูปแบบการอ่านมีอารมณ์ใกล้เคียงกับห้องสมุดทั่วไป มีวิธีการตัดช่วงเวลาการใช้ จำกัดระยะเวลาในการยืม คืน เพื่อป้องกันการโหลดไฟล์หนังสือไปเก็บไว้โดยไม่ได้เปิดอ่าน หรือส่งต่อให้กับคนอื่น" เธอกล่าว

Bookless Library หรือ ห้องสมุดที่ไม่มีหนังสืออยู่เลยนั้นจะไม่ได้มาแทนที่ห้องสมุดในรูปแบบเดิม เพราะการศึกษาของคนไทยไม่เอื้อกับการไม่มีหนังสือ เหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นห้องสมุดจริงจำเป็นจะต้องมีอยู่ ในขณะที่ Bookless Library เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น จากที่เคยยืมหนังสือได้คนละเล่ม พอเป็นไฟล์ดิจิทัลสามารถยืมได้พร้อมกันหลายคนเท่านั้นเอง จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหนังสือที่มีอยู่อย่างไรเมื่ออีบุ๊คเข้ามาแทนที่ จะผลิตหนังสือในรูปของไฟล์ดิจิทัล หรือจะเลือกสแกนหนังสือทั้งเล่ม เพื่อให้บริการดาวน์โหลดบนเว็บไซต์

"อย่าลืมว่ากูเกิลไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ถ้าไม่มีคนสร้างข้อมูลขึ้นไปปรากฏอยู่บนเว็บ" เธอกล่าวทิ้งท้าย

โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

Life Style : Life

By : bangkokbiznews.com
ที่มา http://www.blogger.com/blogger.g?blogID=6449393382660758997#editor/src=sidebar

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีทุกมหาลัยเลย
    เพราะรู้สึกว่ามันไฮเทคดี เเล้วไม่ต้องมาจัดหนังสือด้วย

    ตอบลบ