วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


การอ่านเพื่อพัฒนาชีวิต
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นิพนธ์บทกวี “ ฉันชอบหนังสือ ” ว่า
 “ หนังสือ มีมากมาย หลายชนิด
 นำดวงจิต เริงรื่น ชื่นสดใส
 ให้ความรู้ สำเริง บันเทิงใจ
 ฉันจึงใฝ่ ใจสมาน อ่านทุกวัน
 มีวิชา หลายอย่าง ต่างจำพวก
 ล้วนสะดวก ค้นได้ ให้สุขสันต์
 วิชาการ สรรมา สารพัน
 ชั่วชีวัน ฉันอ่านได้ ไม่เบื่อเลย”
 จากบทกวีดังกล่าว ทำให้เราเห็นความสำคัญของการอ่าน อีกทั้งการอ่านยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตของคนเราอีกมากมาย เช่น ช่วยให้เราเป็นคนที่มีการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ทำให้เกิดการเพลินเพลิด คลายเครียด ทำให้เกิดการคิดที่ใคร่ครวญ ทำให้เกิดมีนิสัยการจดจ่อ อดทน ทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร การเพิ่มพูนองค์ความรู้ ฯลฯ
 สำหรับการอ่านการที่ดีต้องมีวัตถุประสงค์ การที่ผู้อ่านรู้วัตถุประสงค์ในการอ่านจะทำให้ผู้อ่านเลือกอ่านหนังสือได้อย่างเหมาะสม วัตถุประสงค์ในการอ่านมีดังนี้
 1.อ่านเพื่อความรู้ เป็นการอ่านเพื่อช่วยขยายองค์ความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการอ่านเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ยังไม่เข้าใจ เช่น การอ่านหนังสือตำรา การอ่านเอกสารหรือวารสารทางวิชาการ หนังสือพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ
 2.อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นการอ่านเพื่อคลายเครียด เป็นการอ่านที่จรรโลงใจ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เขียนสนุกสนาน ตลก เช่น การ์ตูน เรื่องสั้น นวนิยาย กีฬา ฯลฯ
 3.อ่านเพื่อการวิเคราะห์ จากพจนานุกรมฉบับของราชบัณฑิตยสถาน เรียบเรียงโดย มานิต มานิตเจริญ ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “ วิเคราะห์ คือ พิเคราะห์ , ใคร่ครวญ ,แยกออกเป็นส่วนๆ ”ดังนั้น การอ่านเพื่อการวิเคราะห์ก็คือการอ่านอย่างใคร่ครวญ แยกออกเป็นส่วนๆ เช่น วิเคราะห์รูปแบบ , วิเคราะห์เนื้อหา , วิเคราะห์การใช้ภาษา เป็นต้น
 4.อ่านเพื่อให้เกิดความคิด การอ่านจะทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดต่างๆ ขึ้นภายในสมอง เช่น ทำให้เกิดการคิดใคร่ครวญ , ทำให้เกิดการคิดในเชิงเปรียบเทียบ , ทำให้เกิดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ , ทำให้เกิดความคิดจินตนาการในอนาคต ฯลฯ
 5.อ่านเพื่อฝึกทักษะในการออกเสียง การอ่านออกเสียงมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้รู้ว่าผู้อ่านนั้น อ่านผิดหรืออ่านถูก เช่น การอ่านออกเสียงตัวควบกล้ำ การอ่านออกเสียงทำนองเสนาะ การอ่านออกเสียงบทประพันธ์คำกลอนต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้การอ่านออกเสียงจะมีผลต่อการพัฒนาการพูดอีกด้วย
 ฉะนั้นการอ่านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งแต่เป็นที่น่าเสียดาย สังคมไทยอ่านหนังสือกันน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จากการเปิดเผยของ นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ปี 2553 ประเทศเวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ย 60 เล่มต่อปี สิงคโปร์อ่านหนังสือเฉลี่ย 40-60 เล่มต่อปี มาเลเซียอ่านหนังสือเฉลี่ย 40 เล่มต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 2-5 เล่มต่อปี เท่านั้น
 ฉะนั้นกระผมอยากให้พวกเราสร้างวัฒนธรรมการอ่านโดยให้คนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมการอ่านของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการปรับปรุงห้องสมุดในโรงเรียนแต่ละแห่งเสียใหม่ให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตชีวา มีการยืมหรือคืนหนังสือที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำอย่างไรให้มีเด็กนักเรียนเข้าห้องสมุดในโรงเรียนกันมากๆ ห้องสมุดควรจัดห้องสำหรับทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆให้กับเด็กนักเรียน คุณครูควรสร้างวัฒนธรรมในการรักการอ่านโดยทำตัวเป็นแบบอย่าง มีการแนะนำหนังสือที่น่าอ่านและครูต้องทำตัวเป็นตัวอย่างกล่าวคือครูต้องอ่านหนังสือก่อนแล้วจึงแนะนำหนังสือ 
 สำหรับตัวกระผมเองทุกปีในช่วงขึ้นปีใหม่ กระผมจะแบ่งเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อหนังสือแจกเพราะผมอยากสร้างวัฒนธรรมการรักการอ่านขึ้นในสังคมไทย

ที่มาจาก www.drsuthichai.com

2 ความคิดเห็น: