วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เถ้าแก่น้อยยุคไอที ปีเดียวก็เป็นได้

เปิดแนวคิดโครงการ “เถ้าแก่น้อย นำแนวคิดเทคโนโลยี สู่เป้าหมายธุรกิจ” หนึ่งในโครงการดีๆ ระหว่างศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และโครงการส่งเสริมซอฟต์แวร์ สามารถ อินโนเวชัน อวอร์ด จากกลุ่มบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น ที่จะมาช่วยปั้นเหล่านักเรียน นักศึกษาให้กลายเป็นเถ้าแก่น้อยยุคไอที
              เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการพัฒนาผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี สวทช. ให้ข้อมูลถึงโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (เถ้าแก่น้อย ว และ ท) ที่ร่วมมือกับทางกลุ่มบริษัทสามารถว่าเป็นโครงการที่รวมเหล่านักศึกษาที่ได้รางวัล มีไอเดีย หรือผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ดีๆ มาต่อยอดให้เข้าสู่การทำธุรกิจ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของ สวทช.              “โครงการนี้จะวางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่นักเรียนปี 4 ที่ทำโปรเจกต์จบ หรือนักเรียนปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ ที่ต้องการผลักดันโปรเจกต์ หรือผลิตภัณฑ์ให้ออกสู่ตลาดทั่วประเทศ รวมไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”              ซึ่งจากการเปิดให้สมัครส่งโครงการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี และนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก เข้าสมัครทั้งหมด 106 โครงการ โดยผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 66 โครงการ เกินจากเป้าที่คาดการณ์ไว้ 40 โครงการ และตั้งเป้าหมายต่อไปว่าจาก 66 โครงการจะมีทีมที่สามารถก่อให้เกิดธุรกิจราว 25 ราย ไม่นับรวมกับโครงการที่มีผู้สนใจมาลงทุนอีกต่างหาก              “สวทช.มีทีมงานที่พร้อมให้ความรู้แก่นักศึกษา และบุคคลทั่วไปภายในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพียงแต่ต้องเปิดใจเข้ามานำเสนอผลงาน และเติบโตไปด้วยกันภายในศูนย์บ่มเพาะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ประสบความสำเร็จจากโครงการเหล่านี้แล้วจำนวนมาก”              นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด หรือเจ้าของเว็บไซต์เทพชอป หนึ่งในเจ้าของบริษัทที่เคยได้รับรางวัลจากสามารถ อินโนเวชัน อวอร์ด และเข้าสู่โครงการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช. เล่าให้ฟังว่า การที่ได้เข้าไปหาความรู้จากโครงการดังกล่าวช่วยให้ได้เรียนรู้ในแง่ของธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่ทีมงานแต่ละคนจะเน้นไปทางวิศวกรรมเป็นหลัก ส่งผลให้สามารถมีแนวทางธุรกิจที่กำลังเติบโตอยู่ในปัจจุบันนี้              “ช่วงนั้นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในบ้านเรากำลังเติบโต แนวคิดของเทฟชอปจะไม่เหมือนกับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายอื่นในตลาด คือ เปิดให้ผู้ใช้งานได้ใช้กันฟรีๆ เพียงแต่ผู้ที่มาเปิดร้านค้าต้องการฟีเจอร์เพิ่มเติมก็จะมีค่าบริการเพิ่ม ซึ่งหลักๆ แล้วจะเป็นการต่อยอดจากบริการให้เช่าเซิร์ฟเวอร์”              ปัจจุบันเทพชอปกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาการทำงานของเว็บให้สะดวกขึ้น โดยจะมีการเปิดคอมมูนิตีมอลล์ภายในเว็บไซต์ชื่อเทพมอลล์ โดยคัดเลือกร้านค้าคุณภาพออกมาแยกประเภทให้ลูกค้าที่สนใจสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้น พร้อมกับหาแนวทางในการทำตลาดโมบายล์แอปพลิเคชันอยู่ด้วย



ที่มา  http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000068234

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น