วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ห้องเรียนแห่งอนาคต

เห็นรัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา  “อินเทล” ขอมีส่วนร่วมในการผลักดันเทคโนโลยี
   
เสนอโมเดล “ห้องเรียนแห่งอนาคต” หรือ “ฟิวเจอร์ คลาสรูม”
   
หลังจากเปิดหลักสูตรเตรียมความพร้อมให้ครูทั่วประเทศในการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน รวมถึงเปิดโครงการนำร่องเพื่อทดสอบการใช้งานแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาในเวอร์ชั่นของอินเทล
   
“นายจอห์น  เดวี่”  รองประธานกลุ่มการขายและการตลาด ผู้จัดการทั่วไปโครงการ อินเทล เวิลด์ อะเฮด บอกถึง แนวคิดของโมเดลห้องเรียนแห่งอนาคตที่ได้นำเสนอกับรัฐบาลไทย ในฐานะภาคเอกชน ที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยีในภาคการศึกษาว่า  เป็นการมองอย่างครบวงจร ไม่ใช่เฉพาะแค่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แต่รวมถึงระบบการบริหารจัดการ การเชื่อมต่อสื่อสาร ที่ไม่ใช่แค่ใช้กับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเท่านั้น แต่ต้องสามารถใช้กับบริการในท้องถิ่นนั้นได้ด้วย
   
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ ครูผู้สอน  ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกอบรม เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝึกครูให้ก้าวทันเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี
   
ทั้งนี้อินเทลได้นำเสนอต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตในประเทศตุรกี ที่อินเทลได้ผลักดันจนประสบผลสำเร็จมาแล้ว
   
และปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จก็คือ รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ที่มีวิสัยทัศน์ในการนำเสนอแท็บเล็ต และโน้ตบุ๊กให้นักเรียนได้ใช้ มีการติดตั้งอินเทอร์แอคทีฟ  แอลซีดี เพื่อใช้เป็นกระดานอิเล็กทรอนิกส์ในห้องเรียน  มีโน้ตบุ๊กให้กับครู  
   
มีการสร้างระบบคลาวด์เพื่อรองรับอุปกรณ์และข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่พร้อมรองรับการเชื่อมต่อทั้งหมด
   
ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ  ต้องทำงานร่วมกันทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การทำงานต้องทำร่วมกันอย่างโปร่งใส และมุ่งไปหาเป้าหมายสุดท้ายด้วยกัน  นั่นคือการหาอุปกรณ์ที่ดีและเหมาะสมทั้งสำหรับครูและนักเรียน 
   
ที่ผ่านมา ตุรกีได้มีการนำเสนอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสำหรับเด็กให้นักเรียนไปแล้ว ซึ่งผลทดสอบออกมาพบว่าเป็นที่น่าพอใจ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กทำหน้าที่ไม่เฉพาะเป็นอุปกรณ์ให้นักเรียนได้เรียนรู้แต่ยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้นักเรียนเริ่มสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองได้
   
สำหรับประเทศไทย  ผู้บริหารอินเทลบอกว่า สามารถนำโมเดลนี้มาปรับใช้ได้  โดยแท็บเล็ตอาจเหมาะสำหรับเด็กเล็กในการเรียนรู้ ส่วนเด็กโตที่ต้องเน้นเรื่องการสร้างสรรค์และออกแบบผลงาน คอมพิวเตอร์ที่มีฟังก์ชั่นครบถ้วนอาจเหมาะสมมากกว่า
   
นอกจากนี้ในแต่ละประเทศ ยังสามารถต่อยอดโครงการไปสู่การตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้อนตลาดการศึกษาในประเทศ เช่นเดียวกับตุรกี ที่ให้โรงงานภายในประเทศ  เป็นผู้ผลิตโน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา โดยกำหนด สเปกที่ต้องการใช้ด้วยตนเอง
   
อนาคต...หากทำตามแนวคิดนี้  ไทยอาจจะเป็นต้นแบบของการใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา และเป็นผู้นำในการส่งออกไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย.
 
ที่มา http://www.dailynews.co.th/technology/155835

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น