วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บรรณารักษ์กับงานบริการตอบคำถามฯ


งานบริการตอบคำถามฯ จัดเป็นภาระงานหนึ่งที่เป็นหน้าเป็นตาของห้องสมุด เนื่องจากต้องพบปะผู้ใช้และเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ ดังนั้นงานบริการตอบคำถามฯ จึงมีส่วนในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้ใช้ ดังนั้นบรรณารักษ์ผู้ทำหน้าที่จึงต้องมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่างานส่วนอื่นอยู่พอสมควร 
  หน้าที่เบื้องต้นของบรรณารักษ์บริการตอบคำถามฯ คือการตอบคำถามให้แก่ผู้ใช้ที่มีคำถามต่างๆ ซึ่งคำถามหรือความต้องการของผู้ใช้นั้นจะแตกต่างไปขึ้นกับความสนใจของแต่ละบุคคล แต่วิธีการดำเนินการเบื้องต้นนั้นจะเหมือนกันคือต้องใช้การตีความหมายของคำถามให้แจ่มชัดว่าผู้ใช้ต้องการอะไรแน่ และจะลงมือค้นหาคำตอบนั้นได้จากแหล่งใด อย่างไร

แซมมวล ร็อธสไตน์ (Samuel Rothstein) ผู้เชี่ยวชาญทางบรรณารักษศาสตร์ท่านหนึ่ง ได้นำเสนอความเห็นลงในบทความเรื่อง Reference Service : The New Dimension in Librarianship ในปี ค.. 1965  ว่า การให้บริการตอบคำถามฯ นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสามระดับ
การให้บริการน้อยที่สุด Minimum Theory เพราะเขาเชื่อว่าการบอกให้ผู้อ่านรู้จักค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
การให้บริการพอประมาณ Moderate Theory เป็นการเน้นให้ผู้ใช้รู้จักการค้นคว้าด้วยตัวเองมากกว่าที่จะหาคำตอบให้แก่ผู้ใช้เอง โดยใช้วิธีการสอนว่าต้องค้นที่ไหน อย่างไร เป็นต้น
การให้บริการอย่างเต็มที่ Maximum Theory เพราะเชื่อว่าบรรณารักษ์มีความชำนาญในการค้นคว้า
อย่างดีที่สุด จึงเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะต้องค้นหาคำตอบมาให้แก่ผู้ใช้ ซึ่ง มร.ร็อธสไตน์ เห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับบริการประเภทนี้
      
         แนวคิดนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เหตุเพราะว่าห้องสมุดแต่ละแห่งมีศักยภาพที่ไม่เท่ากัน ทั้งในด้านของจำนวนหรือประเภทของทรัพยากร จำนวนบรรณารักษ์ตอบคำถามฯ ดังนั้นการมอบบริการแบบเต็มที่ให้แก่ผู้ใช้ทั้งหมดจึงเป็นไปได้ยาก
        การให้บริการตอบคำถามฯ จะประสบผลสำเร็จดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญสองประการ ประการแรกคือทรัพยากรหรือแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ในห้องสมุดว่ามีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมเนื้อหาวิชามากน้อยเพียงใด หมายรวมถึงปริมาณที่มีเพียงพอกับจำนวนผู้ใช้หรือไม่ด้วย แต่นับเป็นโชคดีที่ในยุคสมัยนี้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศรุดหน้าไปไกลมาก   ห้องสมุดแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลไว้กับตัวเองจนมากเกินพอดี  เพราะห้องสมุดในยุคนี้มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันและกัน มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุด  มีการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ช่วยให้ห้องสมุดมีขนาดทางกายภาพที่เล็กลง แต่มีขนาดทางคุณภาพที่มากขึ้น  ส่วนประการที่สองก็คือตัวบรรณารักษ์ผู้ทำหน้าที่ให้บริการ   จะต้องเป็นบรรณารักษ์ที่มีคุณสมบัติที่ดี เหมาะสมกับหน้าที่ ซึ่งศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต  ได้ให้ทัศนะถึงคุณสมบัติที่ดีของบรรณารักษ์บริการตอบคำถามฯ ไว้ดังนี้

มีความรู้เกี่ยวกับหนังสืออ้างอิงเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับแหล่งความรู้ที่มีอยู่ในห้องสมุด
มีมนุษยสัมพันธ์อันดี
มีความสนใจในวิชาการต่างๆ หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
มีความอดทน พากเพียร
มีไหวพริบดีในการรวบรวม วิเคราะห์ปัญหาว่าอยู่ในแนวใด ควรหาคำตอบจากแหล่งใด
มีความจำดี
มีจินตนาการดี รู้จักการยืดหยุ่น ไม่ฝังความคิดไว้ในด้านเดียว
ช่างสังเกต รอบคอบ
ตัดสินใจดี รู้จักเลือกแหล่งคำตอบที่เหมาะสม
รู้จักวิธีการพูดคุย ซักถามอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้
กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้ใช้อยู่เสมอ

ผู้แต่ง : อภิชัย อารยะเจริญชัย
ที่มา : http://blog.lib.kmitl.ac.th/?p=2310

2 ความคิดเห็น:

  1. เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วทำให้รู้สึกว่าอาชีพบรรณารักษ์เป็นงานที่เราต้องเป็นคนช่างสังเกต รู้จักวิธีการพูดคุยหรือช่วยตอบคำถามกับผู้ใช้บริการและต้องกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่แค่เพียงนั่งเฝ้าหนังสืออยู่ในห้องสมุด

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นคือ ได้ทราบว่าการเป็นบรรณารักษ์นั้นต้องกระตือรือร้น ช่างสังเกต หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลาา อย่าหยุดนิ่ง รู้จักสอบถามผู้ใช้ และตอบคำถามผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้ต้องการทราบ เพราะบรรณารักษ์ไม่ใช่เพียงแต่ทำหน้าที่ นั่งเฉยๆอย่างเดียว

    ตอบลบ