วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันๆ บรรณารักษ์ ทำอะไร..



     มีหลายคนชอบตั้งคำถามว่าวันๆ บรรณารักษ์ ทำอะไร วันนี้เลยลองนั่งนึก ตรึก ตรอง ดู ว่าวันๆ เราทำอะไร เริ่มจากสายงานของบรรณารักษ์ก่อน จริงๆงานในห้องสมุดแบ่งเป็น 3 สายงาน
1. สายบริการ
2. สายเทคนิค
3. สายบริหาร
ซึ่งทั้ง 3 สายมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน ณ ที่นี้จึงขอพูดเพียง 2 สาย คือ สายบริการ และสายเทคนิค เพราะเป็นสายที่เกี่ยวพันกับผู้ใช้ และเป็นหน้าเป็นตาห้องสมุด
ส่วนสายบริหารมันก็คืองานบริหารนั่นล่ะ 
บรรณารักษ์งานบริการ
เป็นบรรณารักษ์ที่ทำหน้าที่เน้นงานบริการผู้ใช้ ซึ่งก็มีหลากหลายงานตามแต่ว่าห้องสมุดนั้น มีนโยบายให้บริการใครบ้าง หรือวางให้หน่วยงานมีบริการอะไรบ้าง
(ซึ่งห้องอ่านหนังสือ คณะพยาบาลศาสตร์ มีบรรณารักษ์คนเดียว ดังนั้นจึงต้องบริการทุกอย่างตามที่จะสามารถบริการได้)
1. บรรณารักษ์ฝ่ายยืม-คืน
ก็เหล่าบรรณารักษ์ที่นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ยืม-คืน และรวมถึงบรรณารักษ์ให้บริการยืมใช้ทรัพยากรสารสนเทศในแผนกต่างๆด้วย ซึ่งท่านจะเห็นพวกเขาเหล่านี้ยืน/นั่งอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ตลอด ซึ่งคนทั่วไปก็มักจะคิดว่า ทำหน้าที่ยืม-คืน ประทับตรา วดป. ที่ต้องคืน แล้วโยนมันไว้ข้างหลัง จริงๆก็ไม่ผิดนักหรอก (เพียงแต่พวกเขายังมีหน้าที่ดูแลในเรื่องการปรับ เช็คข้อมูลมีปัญหาในระหว่างการยืม-คืน
กล่าวคือ มันก็มีงานให้ทำได้ทั้งวัน แต่มันเป็นแบบเรื่อยๆ งานยืม-คืนจะหนักมากคือช่วง เช้า กลางวัน และเย็น เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ นิสิต และผู้ใช้มะรุมมะตุ้ม ซึ่งปัญหาหนักที่บรรณารักษ์เจอบ่อยๆคือ ผู้ใช้ที่ยืมไปแล้วมาคืนช้า ไม่ค่อยยอมเสียเงินค่าปรับ.... มีทุกที่ทุกหน่วยงานค่ะ บางคนขอต่อรองราคา แต่พวกนี้พอว่า พวกที่มาถึงอวดเบ่งว่าข้าใหญ่ แล้วไม่ยอมเสียเงินนี่สิน่าหงุดหงิด  ถ้าบรรณารักษ์ไม่ใจเย็นพออาจจะมีตบตีกันแน่ๆ ฉะนั้นบางครั้งจึงเจอบรรณารักษ์หน้าบูดๆ  แล้วยังมีหน้าที่คอยจัดชั้นหนังสืออีกด้วยนะคะ จัดชั้นธรรมดาก็คงไม่หนักหนาอะไร แต่บางครั้งเจอผู้ใช้ที่ขยันอ่าน ขยันค้นมากๆ คือยกหนังสือทั้งชั้นออกมาแล้วก็กองไว้เพนิน คงคิดว่าบรรณารักษ์ว่าง
2. บรรณารักษ์ตอบคำถาม
โดยหน้าที่คือคอยให้คำแนะนำและตอบคำถาม-ปัญหาที่เกิดจากการใช้ เป็นงานที่บรรณารักษ์ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากๆ เพราะเป็นงานที่ประจันหน้าผู้ใช้ และเป็นงานที่เจอผู้ใช้ หลากหลายมีทั้งคนปกติ คนอัจฉริยะ คนไม่ค่อยฉลาด คนไม่เข้าใจตัวเอง และคนบ้า ซึ่งแต่ละพวกก็มีหลากหลายแนว ถามดีบ้าง ไม่ดีบ้าง บรรณารักษ์ก็ให้บริการกันไป การให้บริการ ณ ตรงนี้คือการให้คำตอบในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ผู้ใช้หาอะไรซักอย่างไม่เจอ แต่.....
(ขอบ่น) คนไทยส่วนใหญ่อวดเก่งนะคะ ประมาณว่าหาไม่เจอ แล้วไปพูดข้างนอกว่า "ไม่มี "  “หรือหาไม่เจอ ก็บอก หายไปแล้ว”…......ก็ไม่มาถามบรรณารักษ์ ให้บรรณารักษ์ช่วยหาให้ล่ะ
บรรณารักษ์ตอบคำถามก็จะช่วยหาคำตอบให้ โดยถ้าเป็นเรื่องง่ายๆ (ที่ผู้ใช้ไม่เข้าใจ) บรรณารักษ์จะแนะนำวิธีการหาให้ เพราะ เรื่องง่ายๆ ก็ต้องฝึกให้ผู้ใช้หาเองเป็น จะได้หาเองได้ในอนาคตไม่ต้องคอยพึ่งบรรณารักษ์ตลอดเวลา
3. บรรณารักษ์สืบค้น???
จริงๆแล้วก็คือ บรรณารักษ์ตอบคำถามนั้นล่ะ เพียงแต่บางครั้งบรรณารักษ์ต้องทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลมาให้ผู้ใช้บริการ (หรือหนักกว่านั้นบริการหาหนังสือให้ด้วย เดี๋ยวลงมารับ)
บรรณารักษ์งานเทคนิค
เป็นบรรณารักษ์ที่มักจะทำงานอยู่เบื้องหลังราวกับรัฐบาลเงาก็ไม่ปาน มักจะไม่ชอบเสนอหน้าออกไปข้างนอก เพราะไม่ถนัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน งานที่พวกเขาเหล่านี้ทำ ก็ไม่ใช่ธรรมดานะ ก็จะมีตั้งแต่
1. งานจัดซื้อ หน้าที่คือคอยหาสารพัดทรัพยากรสารสนเทศเข้าสู่ห้องสมุด ตั้งแต่ติดต่อสั่งซื้อ จัดหา จัดทำ ขอรับบริจาค เพื่อให้ได้ของนั้นๆมา และคอยประสานงานในกรณีที่ต้องมีการทำสัญญา ต่อสัญญา และเมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ลงทะเบียนสิ่งที่ซื้อมาด้วย คือต้องมาประทับตราหนังสือ แสดงความเป็นเจ้าของอีก   1 เล่ม ก็ต้องประทับตราประมาณ 7 ที่
2. งานจัดหมวดหมู่ ให้หัวเรื่อง
เป็น 1 ในงานที่หลายๆคนอยากจะร้องยี้ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ จัดหมวดหมู่ก็คือ มานั่งให้เลขเรียก แก่หนังสือแต่ละเรื่อง ตรงนี้ขออธิบายยาวนิด เพราะคาดว่าหลายๆคนไม่เข้าใจ ไอ้เลขหมู่ที่ว่านี้ เป็นการแบ่งหนังสือออกตามเนื้อหาสาระ โดยใช้สัญลักษณ์มาแทนเนื้อหาหนังสือ ซึ่งไอ้เจ้าสัญลักษณ์ที่ว่านี้จะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดภายในเล่ม แต่ดึงเฉพาะส่วนที่เป็นหลักเท่านั้น โดยเลขหมู่ที่ว่านี้ ใช้ๆกันอยู่ก็มีหลายแบบ ตามแต่ห้องสมุดพิจารณาความเหมาะสม แต่หลักๆที่ใช้กันในไทยก็จะมี
1. ระบบ Dewey  ให้นึกถึงเลขหมู่ที่มันมีแต่ตัวเลข ไล่ตั้งแต่ 100 - 000 (ในห้องสมุดจะจัด 000 - 900)
2. ระบบ LC ระบบนี้จะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษผสมเลข ปกติก็คือ A - Z ยกเว้น I O W X Yและแต่ละตัวอักษรจะแบ่งย่อยๆได้อีกเช่น A ก็จะมี Aa - Az (จริงๆมันไม่ครบทั้งหมดหรอก)
3. ระบบ NLM ระบบนี้จะคล้าย LC แต่มีเนื้อหาไปทางสาขาแพทย์ จึงเป็นระบบที่นิยมใช้ในโรงพยาบาล หรือ มหาวิทยาลัยที่ผลิตพวกหมอ พยาบาล เป็นหลัก
(ซึ่งห้องอ่านหนังสือ จัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบ NLM เหมือนชาวบ้านเค้าทั่วโลกละคะ)
ซึ่งไอ้การคิดเลขเหล่านี้ออกมา บรรณารักษ์ก็ต้องมานั่งอ่านหนังสือเพื่อตีความให้ ออกว่าตกลงมันเป็นเรื่องอะไร บางครั้งความคลุมเครือของเนื้อหาก็ทำให้บรรณารักษ์ปวดหัวได้เหมือนกัน ทำให้การจัดหมวดหมู่บางครั้งใน 1 วันบรรณารักษ์ทำได้เพียงไม่กี่ชื่อเรื่อง อีกงานก็คืองานให้หัวเรื่อง เพื่อให้ผู้ใช้ ใช้เป็นคำค้น หัวเรื่อง (Subject) เป็นคำที่ครอบคลุมเนื้อหาทรัพยากรนั้นๆ เป็นตัวบอกถึงเนื้อหาที่เราจะได้รับ ต่างจากคีย์เวิร์ดนะคะ คีย์เวิร์ดเป็นคำธรรมชาติ มีอะไรก็ใช้แบบนั้น แต่หัวเรื่องเป็นคำเฉพาะ หรือบางกรณีเป็นคำทางการ
ยังรวมไปถึงการติดสันหนังสือ ติดบัตรกำหนดส่ง ติดบาร์โค้ดหนังสือ
3. งานซ่อม เป็นงานที่เอาของที่ชำรุดมาซ่อมให้กลับมามีสภาพใช้งานได้นั้นล่ะค่ะ ซึ่งแต่ละที่ก็มีกลเม็ดต่างกันไป เพราะแต่ละหน่วยงานเก็บของไม่เหมือนกัน เลยต้องมีวิธีอนุรักษ์ต่างกันไป (แต่ไม่ต้องพูดถึงหรอกค่ะ มีบรรณารักษ์คนเดียว แค่ให้บริการกับแคตตาล็อก ก็ไม่ทันแล้ว)
“นี่ยังไม่รวมงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายนะเนี๊ย”

แต่ถึงยังไงๆ บรรณารักษ์ก็ยังคงอยากทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเสมอ แม้บางครั้งจะมีการกระทบกระทั่งกับผู้ใช้บริการบ้าง ยังไงก็นึกใจเขาใจเรานะคะ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ยินดีรับใช้และให้บริการเสมอจ้า

“จะรับบทความวารสาร หรือบริการ DDS เพิ่มมั้ยค๊าบบ”
“ขอบคุณที่ใช้บริการ โอกาสหน้าเชิญเข้าใช้บริการใหม่นะ


ที่มา  http://www.gotoknow.org/posts/339356

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น