วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การจัดการความรู้กับห้องสมุด
E-mailPrintPDF
การจัดการความรู้กับห้องสมุด
ห้องสมุดที่เป็นศูนย์รวมความรู้ต้องมีการจัดเก็บความรู้ในหลายหลากรูปแบบ ทั้งฐานข้อมูล ฐานเอกสาร เครือข่าย คลังข้อมูล ห้องสมุดเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมความรู้ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ Help Desk เครื่องมือในการค้นหาสารนิเทศอันได้แก่ บัตรรายการ บัตรคำถามที่ใช้บ่อย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นฐานความรู้ทั้งสิ้น ห้องสมุดประเภทแรกที่นำเอาการจัดการความรู้เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานคือ ห้องสมุดเฉพาะต่างๆ ซึ่งห้องสมุดเฉพาะก็มีทรัพยากรสารนิเทศที่เป็นเฉพาะสาขาวิชา อันเอื้ออำนวยต่อการควบรวมความรู้เฉพาะด้านอยู่ก่อนแล้ว และห้องสมุดก็เหมือนองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการการจัดการความรู้มาพัฒนาความรู้ในองค์กรเช่นเดียวกัน เช่น ห้องสมุดจำเป็นต้องสร้างความรู้จากสถิติการใช้ข้อมูล ทั้งสถิติการเข้าถึงฐานข้อมูล การเข้าใช้ห้องสมุด นอกจากนี้ห้องสมุดยังใช้ความรู้ในการสร้างจุดแข็งให้ห้องสมุดเอง เนื่องจากการจัดการความรู้เป็นหนึ่งเครื่องมือในการวางแผนและออกแบบงานบริการของห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การจัดการความรู้กับบรรณารักษ์
Davenport and Prusak (1988) อธิบายถึงบทบาทของบรรณารักษ์กับการจัดการความรู้ว่า บรรณารักษ์ คือ นายหน้าค้าความรู้ที่จำเป็นมากในเศรษฐกิจหรือตลาดความรู้ ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อระหว่างผู้ซื้อ กับผู้ขาย หรือคนที่อยากได้ความรู้กับคนที่มีความรู้ บรรณารักษ์เป็นนายหน้าค้าความรู้ที่เราเห็นภาพชัดเจนที่สุด
ผู้นำการจัดการความรู้นั้น จะต้องประกอบไปด้วย ผู้ให้คำปรึกษาและบรรณารักษ์ วิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าถึงคุณค่าของสารนิเทศและความรู้ทั้งในองค์การและในชุมชนรอบข้างอย่างกว้างขวาง ซึ่งพอจะสรุปบทบาทของผู้นำการจัดการความรู้หรือบรรรารักษ์ในสังคมสารนิเทศได้สองลักษณะดังนี้
1. บรรณารักษ์เป็นผู้จัดการความรู้ ซึ่งบรรณารักษ์ต้องปฏิบัติงานกับทรัพยากรสารนิเทศและความรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสารนิเทศ การจัดแต่งสารนิเทศ อีกทั้งบรรณารักษ์ก็เป็นศูนย์กลางของชุมชนเปรียบเสมือนศูนย์กระจายข่าวสาร และความรู้ให้กับผู้ใช้ในชุมชนได้ตามความต้องการ
2. บรรณารักษ์เป็นครู หรือผู้ฝึกอบรม บทบาทในที่นี้ คือ บทบาทของบรรณารักษ์ในสถานศึกษา โดยบรรณารักษ์ส่วนมากต้องทำหน้าที่สอนวิชาการค้นคว้าสารนิเทศต่างๆ หรือสอนการใช้ห้องสมุดของนักศึกษาที่เข้ามาใหม่และยังไม่คุ้นเคยกับห้องสมุด จุดนี้เองทำให้บรรณารักษ์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาหรือผู้ใช้ไปโดยธรรมชาติของวิชาชีพ
White (2003) กล่าวว่า คนที่ทำงานทางด้านความรู้ (Knowledge Workers) คือคนที่สามารถประเมินและกลั่นกรองสารนิเทศที่มีประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้หรือลูกค้าโดยป้องกันผู้ใช้หรือลูกค้าออกจากสารนิเทศที่ไร้ประโยชน์ ซึ่งงานสองงานของบรรณารักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับการเป็นคนที่ทำงานทางด้านความรู้ คือ
- งานจัดซื้อ บรรณารักษ์ต้องสามารถประเมินสิ่งที่จัดซื้อเข้าห้องสมุด โดยแบ่งเป็น การประเมินสิ่งที่จัดซื้อไว้ว่า ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หรือไม่ และสิ่งใดที่ห้องสมุดยังไม่มีแต่ควรมีไว้ รวมถึงการใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุดด้วย
- งานวิเคราะห์รายการบรรณานุกรม ที่ช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงสารนิเทศและความรู้ที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วและตรงกับความต้องการมากที่สุด
ทักษะของบรรณารักษ์ในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความรู้
  1. บรรณารักษ์ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ ทั้งพื้นฐาน ความเป็นมา และคุณค่าของความรู้ว่า ความสำคัญเพียงใดต่อองค์กร การทำให้องค์กรประสบความสำเร็จนั้น บรรณารักษ์ต้องทุ่มเทกับการจัดการความรู้ โดยการยึดหลักการเข้าถึงและจัดสรรแบ่งปันความรู้ให้แก่กันอย่างทั่วถึง
  2. บรรณารักษ์ต้องมีความรู้ และเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีสารนิเทศ โดยเฉพาะการสื่อสารและข่ายงาน ตลอดจนต้องมีทักษะในการสืบค้น จัดเก็บ จัดส่งสารนิเทศและความรู้ให้แก่ผู้ใช้
  3. บรรณารักษ์ต้องมีขีดความสามารถในการสื่อสารที่ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ เนื่องจากบรรณารักษ์จะต้องเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับสารนิเทศและความรู้อยู่ตลอดเวลา
  4. บรรณารักษ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับองค์กรว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง รวมถึงโครงสร้างฝ่ายงานต่างๆ เพื่อทราบทิศทางการไหลเวียนของสมานิเทศอันส่งผลให้เกิดกลุ่มการเรียนรู้ได้
  5. บรรณารักษ์ต้องทราบความต้องการของผู้บริหารระดับต่างๆ ในองค์กร เพื่อสามารถจัดหาความรู้ได้ตามความต้องการและทันการณ์ ส่งผลให้การตัดสินใจของผู้บริหารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  6. บรรณารักษ์ต้องมีจิตวิทยาในการเข้าถึงและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจของบุคลากรในองค์กรทุกคนว่าต้องตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในองค์กร
  7. บรรณารักษ์ต้องเป็นผู้มองการณ์ไกล และก้าวทันโลก ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีสารนิเทศ ที่กำลังทันสมัยไปอย่างรวดเร็ว บรรณารักษ์ในบทบาทผู้จัดการความรู้จะต้องเป็นผู้ที่มีความไวต่อการรับทราบความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะสามารถปรับตัวเองให้ทันยุคสมัยตลอดเวลา
ลักษณะของคนในองค์การแห่งการเรียนรู้1. ใฝ่แรงใฝ่รู้คู่ศักยภาพ สมาชิกขององค์กรจะต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญคือ เป็นคนที่รู้เห็น และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
2. รับรู้ภาพลักษณ์โลกรอบตัวอย่างถูกต้อง เป็นความคิดความเข้าใจของคนที่มีต่อหน่วยงาน ซึ่งจะต้องประกอบพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) ใช้การวางแผนเป้ฯกระบวนการเรียนรู้ 2) ต้องฝึกฝนทักษะในการใคร่ครวญและตั้งคำถาม
3. การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน เป็นวิธีการทำให้แต่ละคนเกิดวิสัยทัศน์ การหัดให้คนคิดไปข้างหน้า มองอนาคต
4. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกโดยอาศัยความรู้และความคิดของสมาชิกในกลุ่มมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาความรู้
5. คิดเป็นระบบครบวงจร เป็นวิธีคิดให้ครอบคลุมรอบด้าน สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ ความเปลี่ยนแปลง เห็นความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระบบย่อยต่างๆ ขององค์กรได้
บรรณานุกรม
พรธิดา วิเชียรปัญญา. (2547). การจัดการความรู้: พื้นฐานและการประยุกต์ใช้ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : เอ็กเปอร์เน็ท.
ชัยยันต์ พงษ์ไทย. บทบาทของการจัดการความรู้ต่อวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์สารนิเทศศาสตร์. ใน การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548 และประชุมวิชาการเรื่องยุทธศาสตร์การจัดการองค์ความรู้ในห้องสมุด, กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2548.
Last Updated on Tuesday, 13 March 2012 11:07

ที่มา http://www.libraryhub.in.th/2009/05/24/librarian-roles-and-duties/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น