วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ใครอ่านอะไร อ่านทำไม อ่านแล้วได้อะไร


การอ่าน ถือเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง และมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการอ่านวรรณกรรม ผู้เขียนวรรณกรรมส่วนใหญ่ก็พยายามสอดแทรกแนวคิด คตินิยม ความเชื่อ ค่านิยม ขนมธรรมเนียม ประเพณีให้เข้าไปอยู่ในงานเขียน หากมองโดยผิวเผิน เราอาจจะเห็นว่าคนที่ชอบอ่านหนังสือ หรือบรรดาคนที่เรียกว่าหนอนหนังสือนั้น เป็นคนที่ชอบปลีกตัวออกจากสังคมอยู่คนเดียว แต่จริง ๆ แล้วมีคุณลักษณะหลายประการที่ทำให้เชื่อว่า แท้จริงแล้วคนที่ชอบอ่านหนังสือ เป็นคนของสังคมมากกว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น 1) การมองว่าการอ่านเป็นการรับสาร กระบวนการสติปัญญา (cognitive process) ที่ใช้ในการประมวลข้อมูลนั้นเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการสนทนา หรือ 2) อาจมองได้ว่า กระบวนการคิดที่ตอบสนองกับข้อความในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับ ต่อต้านกับสิ่งที่อ่าน หรือการสร้างจินตนาการ ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางสังคม เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสิ่งที่ได้อ่าน การนำจินตนาการที่ได้ไปพัฒนาต่อเป็นงานอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการอ่านทำให้มีมุมมองต่อโลกกว้างขึ้น

หน่วยงานอย่าง National Endowment for the Arts (NEA) ของอเมริกา ได้พยายามติดตามพฤติกรรมการอ่านวรรณกรรมของอเมริกันชนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ทำการสำรวจไปเมื่อปีที่แล้ว (2008) และรายงานผลการสำรวจชี้ ว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงขาขึ้นของการอ่านวรรณกรรมในอเมริกา เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีที่อัตราการอ่านวรรณกรรมนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 50.2 สูงกว่าปีที่แล้วที่ลงไปอยู่ที่ 46.7 เปอร์เซ็นต์ ทำเอานักวิชาการด้านการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงบรรดาบรรณารักษ์ต่างออกมาแสดงความตื่นเต้นกันใหญ่ มีการคาดการณ์ถึงสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ไปต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ อิทธิพลของของสื่อ (ยกตัวอย่างเช่น ช่วง Book Club ของ Oprah Winfrey) บ้างก็ว่าในช่วงหลังมีหนังสือที่ได้รับความนิยมอยู่หลายเล่ม หลายคนก็คิดว่าสาเหตุหลัก ๆ น่าจะมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้คนหันกลับมาอ่านหนังสือ แทนการออกไปจับจ่ายใช้สอย บ้างก็ว่าเป็นอิทธิพลของอินเตอร์เน็ต (ปล.สื่อมวลชนและอินเตอร์เน็ตถือเป็นดาบสองคม งานวิจัยหลายชิ้นพยายามหาผลกระทบของสื่อและอินเตอร์เน็ตที่มีต่อการอ่าน หนังสือจากหลายมุมมอง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างเด็ดขาด)

พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย
ในบ้านเราก็มีการสำรวจเช่นกัน ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยตัวเลขข้อมูลการอ่านหนังสือของประชากรปี 2551 พบว่า คนไทย (อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 66.3 อ่านหนังสือ มีการตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลข 66.3 เปอร์เซ็นต์นี้ คงไม่สามารถเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของอเมริกาที่กล่าวมาข้างต้นได้ เนื่องจากการสำรวจของไทยนั้นครอบคลุมการอ่านทุกประเภททั้งที่เป็นการอ่าน เพื่อการเรียน หรืออ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ในขณะที่ในอเมริกา ผลการสำรวจของ NEA นั้นเน้นเพียงแต่การอ่านวรรณกรรมเท่านั้น

การรวมการอ่านแบบจริงจัง (serious reading) กับการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน (reading for pleasure) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ข้อมูลภาพรวมที่ออกมาไม่สามารถชี้เหตุและผลที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้เนื่องการอ่านแบบจริงจังเป็นกิจกรรมที่จำเป็น (mandatory) ในขณะที่การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นการอ่านด้วยความสมัครใจ ซึ่งการอ่านทั้งสองแบบมีแรงจูงใจและปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น งานของ Cox และ Guthrie (2001) ชี้ว่า แรงจูงใจโดยทั่วไปมีผลต่อการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ในขณะที่กลยุทธ์ทางสติปัญญา (intellectual strategies เช่นการตั้งคำถาม) นั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณและความลึกในการอ่านหนังสือเพื่อการเรียนที่ดีกว่าแรงจูงใจทั่วไป ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับแรงจูงใจในการอ่านนั้นจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ข้อมูลอัตราการอ่านหนังสือตามประเภทของหนังสือและกลุ่มอายุ ถ้านำข้อมูลจากผลสำรวจมาพิจารณาโดยตรง โดยภาพรวม เราก็จะเห็นอิทธิพลของหนังสือพิมพ์สูงมาก แต่เมื่อพิจารณาลงไปตามกลุ่มอายุแล้ว ดูเหมือนว่าการอ่านหนังสือพิมพ์เป็นที่นิยมของผู้ใหญ่เท่านั้น ในขณะที่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของเยาวชน (อายุ 6-24 ปี) อ่านหนังสือตำราเรียน รองลงมาเป็นนวนิยาย การ์ตูนและหนังสืออ่านเล่น ในขณะที่กลุ่มนี้มีอัตราการอ่านหนังสือพิมพ์เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้นถ้าไม่ได้พิจารณาตามกลุ่มอายุ ค่ากลางที่ได้ก็จะมีความผิดพลาดอยู่สูง เนื่องจากไม่สามารถพฤติกรรมการอ่านของประชากรได้ทั้งหมด

แผนภูมิที่ 1 อัตราการอ่านหนังสือแต่ละประเภทของประชากรตามกลุ่มอายุ (ผลการสำรวจ ปี 2548)


ที่ผู้เขียนตระหนักถึงข้อนี้ เนื่องจากบทบาทของบรรณารักษ์และนักสารสนเทศนั้นเกี่ยวข้องกับการอ่านโดย ความสมัครใจมากกว่าการอ่านด้วยความจำเป็น บรรณารักษ์คงไ่ม่สามารถไปบีบคอใครให้อ่านหนังสือ แต่สามารถหาวิธีการที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนอ่านหนังสือได้ ดังนั้นความสนใจในด้านการอ่านในด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ จึงเป็นไปในทิศทางของการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินมากกว่าการอ่านเพื่อการศึกษา ซึ่งประเด็นหลังนี้น่าจะเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักวิชาการด้านการศึกษาและการอ่านออกเขียนได้มากกว่า

ตัวแปรมาตรฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไม่ว่าจะสำรวจครั้งไหน ๆ ก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้น เพศ อายุ การศึกษา ใน/นอกเขตเทศบาล ซึ่งผลการสำรวจชี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชายและหญิง พบว่าความแตกต่างของอัตราการอ่านหนังสือระหว่างชายและหญิงนั้นลดน้อยลง อัตราส่วนของผู้หญิงอ่านหนังสือน้อยกว่าผู้ชายเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่ปัจจัยด้านการศึกษาก็เป็นไปตามคาด คือ คนที่เรียนสูงก็มีอัตราส่วนการอ่านหนังสือมากกว่าคนที่เรียนน้อยหรือไม่ได้ เรียน ในขณะเดียวกันคนอายุน้อยกว่าก็มีอัตราส่วนการอ่านหนังสือมากกว่าคนอายุสูงกว่า

สำหรับประเภทหนังสือที่คนอ่าน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือพิมพ์ ยกเว้นกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-14 ปีเน้นอ่านตำราเรียนตามหลักสูตรเป็นหลัก ตามมาด้วยกลุ่มนวนิยาย การ์ตูนและหนังสืออ่านเล่น ในขณะที่ผู้สูงอายุนอกจากจะนิยมอ่านหนังสือพิมพ์แล้ว ยังสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาด้วย (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่) โดยเฉลี่ยคนไทยในปี 2551 อ่านหนังสือประมาณ 39 นาทีต่อวัน นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า คนไทยประมาณ 3.2 ล้านคนอ่านหนังสือนอกเวลาหรือทำงานทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่วนตัวเลขอื่น ๆ แนะนำให้เข้าไปอ่านที่รายการสรุปเบื้องต้นได้โดยตรง

ตัวเลขสถิติเชิงบรรยายเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไรมากนัก เพราะไม่ได้อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้เขียนจึงคิดว่าอย่างน้อยการวิเคราะห์ตามขวาง (cross-sectional) น่าจะทำให้เห็นพฤติกรรมการอ่านของคนไทยที่น่าสนใจมากขึ้น แต่เนื่องจากรายการผลการสำรวจโดยละเอียดของปี 2551 ยังไม่ออก ก็เลยต้องย้อนกลับไปนำผลการสำรวจของปี 2548 มาลองพิจารณา และก็พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอยู่หลายประการ แต่กระนั้นก็ต้องขอออกตัวก่อนว่า เป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) ที่ได้จากผลการสำรวจอีกที มิได้นำข้อมูลจากแบบสอบถามโดยตรงมาพิจารณา ดังนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการอ่านไปในตัว

ข้อสังเกตประการแรก คือ เมื่อจำแนกตามประเภทของหนังสือจะเห็นว่า การศึกษาไม่มีผลต่อการอ่านเลย กล่าวคือทุกกลุ่มตัวอย่างมีแบบแผน (pattern) อัตราส่วนการอ่านที่คล้ายกันมาก ซึ่งนั่นหมายความว่า กลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาสูงมีอัตราส่วนการอ่านหนังสือประเภทตำราเรียน (นอกเหนือหลักสูตร) พอ ๆ กับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือต่ำกว่าประถมศึกษา อันนี้ผมก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเพราะอะไร และทำไมตัวเลขจึงออกมาเป็นเช่นนี้

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาตัวแปรด้านอายุ ดูเหมือนว่าแบบแผนของอัตราการอ่านหนังสือนั้นเป็นไปในทางเดียวกัน แต่กระนั้นโดยส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลอายุ นอกเหนือเป็นตัวชี้วัดในเรื่องของความเป็นผู้ใหญ่ (Maturity) ของปัจเจกแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดในด้านรุ่น (Generation) ได้ด้วย ซึ่ง Generation นั้นสามารถนำไปอ้างอิงสภาพสังคมของคนในวัยเดียวกันได้ด้วย เช่น รุ่นของคนที่เกิดในช่วงที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทมากในสังคม รุ่นของคนที่อยู่ในยุคการเมืองเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์จะต้องอาศัยการวิเคราะห์ในเชิงเวลา (Time-series analysis) กล่าวคือ เป็นการตั้งสมมติฐานว่า ถ้าอายุ (ที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นผู้ใหญ่ของปัจเจก) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการอ่าน (เมื่อมีการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ทั้งหมด) แบบแผนของอัตราส่วนการอ่านก็ควรจะคงอยู่ในรูปแบบเดิมเรื่อยไป แต่ถ้าเกิดว่าอัตราส่วนเหล่านั้นเกิดมีการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ อัตราการอ่านของทุกกลุ่มอายุควรสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป) ก็แสดงว่า Generation ที่เป็นตัวชี้วัดทางสังคมก็มีส่วนต่อการอ่านหนังสือของคนไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามผู้เขียนเนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงหยุดข้อสงสัยไว้เพียงเท่านี้

ประการที่สาม เท่าที่ลองคำนวณคร่าว ๆ (เนื่องจากในตารางผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2548 แสดงผลข้อมูลจำนวนชั่วโมงในเชิงลำดับ (ordinal) ผู้เขียนจึงต้องทำการประมาณค่าโดยเอาค่ามัธยฐาน (median) มาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้ง) พบว่าจำนวนเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือต่อวันอยู่ที่ประมาณ 59 - 60 นาที และพบว่าไม่มีความแตกต่างในกลุ่มอายุ (หมายความว่า คนไทยไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ใช้เวลาอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยพอ ๆ กัน) ถ้าหากการคำนวณ (ของทั้งผมและทั้งของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ไม่มีข้อผิดพลาด ก็เป็นข้อที่น่าเป็นห่วงมากว่า จำนวนชั่วโมงที่อ่านต่อวันนั้นลดลงอย่างมาก ซึ่งในข้อมูลปี 2551 นั้นอยู่ที่ 39 นาทีต่อวัน

คำถามต่อไปคือ แล้วคนเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำอะไร? คำตอบนั้น่าจะอยู่ในแบบสำรวจเดียวกัน โดยมีการถามถึงเหตุผลของการ ไม่ อ่านหนังสือ ผลการสำรวจชี้ว่า สาเหตุที่คนไทยไม่อ่านหนังสือ ส่วนใหญ่บอกว่าเอาเวลาไปดูโทรทัศน์ ในขณะที่รองลงมาบอกว่าไม่มีเวลาอ่าน ตามมาด้วยไม่ชอบอ่าน ไม่สนใจ ในขณะที่ตัวเลขที่น่ากลัวอีกตัวเลขหนึ่งนั่นก็คือ อ่านหนังสือไม่ออก ผลการสำรวจชี้ว่า คนไทย 3 ล้านกว่าคนอ่านหนังสือไม่ออก และดูเหมือนว่าไม่ว่าคนที่อยู่ในหรือนอกเมืองก็ให้เหตุผลของการไม่อ่านหนังสือไปในทิศทางเดียวกัน

ประการต่อมา สถานที่อ่านหนังสือ คนส่วนใหญ่เลือกที่จะอ่านหนังสือจากที่บ้านเป็นหลัก ตามมาด้วยสถานศึกษา (โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ในวัยเรียน) และสถานที่ทำงาน (สำหรับคนที่อยู่ในวันทำงานระหว่าง 25-60 ปี) อัตราส่วนของคนที่อ่านหนังสือจากห้องสมุดมีเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งครอบคลุมไปทุกกลุ่มอายุ ในขณะที่ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน/ชุมชนก็มีประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ (25 ปีขึ้นไป)

ข้อสังเกตประเด็นสุดท้ายและค่อนข้างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือ ข้อแนะนำเกี่ยวกับการส่งเสริมหรือจูงใจให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือ คำตอบส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน (33.9%) ตามมาด้วยความต้องการให้หนังสือมีราคาถูกลง (32.4%) และการเพิ่มความน่าสนใจให้กับเนื้อหาของหนังสือ (24.6%) ซึ่งค่อนข้างเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกันกับผลการสำรวจล่าสุด (ปี 2551) ที่สามอันดับยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนลำดับกัน กล่าวคือ ราคาเป็นอันดับแรก (28.7%) ตามมาด้วยเนื้อหาเป็นอันดับสอง (22.0%) และห้องสมุดเป็นอันดับสาม (19.8%) การเปลี่ยนอันดับนั้นดูไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่ากับการที่อัตราส่วนคนที่เห็น ด้วยเริ่มลดลง จะเป็นด้วยสาเหตุใดนั้นไม่แน่ชัด เพียงแต่ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้สองประเด็นคือ ถ้าไม่มีข้อผิดพลาดจากการสำรวจ ก็อาจเป็นไปได้ว่า 1) อัตราส่วนที่ลดลงในสามอันดับแรกจะเฉลี่ยไปให้กับข้อเสนอแนะอื่น ๆ หรือ 2) คนเริ่มคิดว่า ถึงจะส่งเสริมอย่างไรก็ไม่ช่วยให้คนหันมารักการอ่านมากขึ้น แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานลม ๆ ที่ควรจะต้องรอดูจากผลการสำรวจล่าสุดโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ตัวเลขที่คนแนะนำว่าควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน ถ้าดูเผิน ๆ ก็อาจจะดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกันเองกับผลการสำรวจเกี่ยวกับสถานที่คนอ่านหนังสือ ที่มีคนเพียงส่วนน้อยเลือกที่จะอ่านหนังสือที่ห้องสมุด และอาจจะทำให้อนุมานต่อได้ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว การสร้าง/พัฒนาห้องสมุดก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผู้เขียนอยากจะชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อโต้แย้งข้างต้นนั้นก็ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลเพียงส่วนหนึ่งได้แต่ไม่ทั้ง หมด เนื่องจากต้องพิจารณาจากกระบวนทัศน์ที่นำมาเปรียบเทียบ กล่าวคือ มุมมองของการจัดการและการใช้ห้องสมุดสามารถมองได้หลายแง่มุม ซึ่งหลัก ๆ ก็จะอยู่ที่การมองห้องสมุดในเชิงสถานที่ (library as a place) และการมองห้องสมุดในเชิงทรัพยากร (library as a collection) การเปรียบเทียบระหว่างการสร้างห้องสมุดกับการอ่านหนังสือในห้องสมุดนั้นจึง เป็นการมองเพียงด้านเดียว ซึ่งถ้าจะมองให้กว้างขึ้น อาจจะต้องมีการเพิ่มคำถามไปในแบบสำรวจเกี่ยวกับการได้มาของหนังสือที่อ่าน ด้วย เช่น ซื้อจากร้านขายหนังสือ ได้รับเป็นของขวัญ ยืมเพื่อน ยืมห้องสมุด ถ่่ายสำเนา เป็นต้น ซึ่งคำถามในลักษณะนี้ก็จะทำให้เห็นภาพที่กว้างและชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน (ปี 2548) ยังสามารถนำไปสู่การตั้งข้อสันนิษฐานได้อีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างความคิดเห็นในเรื่อง ความต้องการให้ราคาหนังสือถูกลงและการสร้างห้องสมุดชุมชน ผลจากการวิเคราะห์ตามขวางพบว่า คนที่อาศัยอยู่ในเขตและนอกเขตเทศบาล มีความคิดเห็นแตกต่างกัน กล่าวคือ คนในเมืองเห็นด้วยกับการให้หนังสือมีราคาถูกลงมากกว่าคนอยู่นอกเขตเมือง (41% และ 28.5% ตามลำดับ) ในขณะที่คนที่อาศัยอยู่นอกเมืองเห็นด้วยกับการสร้างห้องสมุดในชุมชน/หมู่ บ้าน (40.2%) มากกว่าคนที่อยู่ในเมือง (19.4%) ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้ามองให้ลึกลงไป เราอาจพิจารณาได้ว่าน่าจะเกิดจากทั้งปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและจิตวิทยา โดยปัจจัยทั้งสามด้านนี้อาจมีปฏิสัมพันธ์กันได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่คนอยากให้หนังสือราคาถูก อาจเป็นเพราะ 1) อยากเป็นเจ้าของ 2) มีกำลังทรัพย์ส่วนตัวไม่เพียงพอ หรือมีเพียงพอแต่อยากประหยัด และ 3) ไม่ชอบใช้ห้องสมุด (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีทัศนคติ/ประสบการณ์ที่ไม่ดีกับห้องสมุด หรือไม่เคยคิดถึงห้องสมุดเลยก็ตาม) ในขณะเดียวกันความต้องการให้มีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน อาจเกิดจาก 1) ความต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนและรับผิดชอบร่วมกันของชุมชน 2) ไม่มีกำลังทรัพย์ส่วนตัวเพียงพอ 3) ไม่มีห้องสมุดในท้องถิ่นและมีความคาดหวังที่ดีจากการมีห้องสมุด ซึ่งถ้ามองจากมุมมองของคนทำงานห้องสมุด อาจจะต้องมองว่า การมี/ไม่มีประสบการณ์ใช้ห้องสมุด สามารถมีผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อทัศนคติและความคาดหวังของคนอ่านหนังสือได้

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้เขียนต้องการจะเน้นย้ำอีกครั้งว่า ตัวเลขที่ผู้เขียนนำเสนออาจมีความคาดเคลื่อน ดังนั้นจึงควรพิจารณาด้วยความระมัดระวัง นอกเหนือจากการประมาณค่าที่อาจจะมีการผิดพลาดแล้ว ตัวแบบสำรวจด้วยยังมีความคลุมเครืออยู่บางประการ โดยเฉพาะเรื่องความคลุมเครือของแบบสอบถาม หลัก ๆ ก็จะอยู่ที่การจำแนกประเภท (Typology) อีกเช่นกัน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็ยังอยู่ที่เรื่องของประเภทหนังสือที่อ่าน โดยเฉพาะการอ่านจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อผิดพลาดที่เห็นอยู่เป็นประจำในการออกแบบสอบถามโดยทั่วไป เนื่องจากมิติของการมองอินเตอร์เน็ตมีหลากหลาย "การอ่านจากอินเตอร์เน็ต" ก็สามารถตีความได้หลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ตในฐานะช่องทางการสื่อสาร (เช่น การอ่านอีเมล์ เว็บบอร์ด) อินเตอร์เน็ตในฐานะบริการที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ (เช่น การอ่านทุกอย่างบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ - ตรงข้ามกับการอ่านบนกระดาษ) อินเตอร์เน็ตในฐานะสถานที่ (การอ่านที่ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่) อินเตอร์เน็ตในฐานะรูปแบบของข้อมูล (เช่น การอ่านบล๊อก การอ่านหนังสือ/วารสารอิเล็กทรอนิกส์) ดังนั้นเมื่อพูดถึงการอ่านจากอินเตอร์เน็ต จึงอาจทำให้เกิดคำถามขึ้นได้ว่า ถ้าหากอ่านบนกระดาษที่พิมพ์จากนิตยสารออนไลน์ การอ่านนั้นจะเรียกว่าอ่านจากอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่ เพราะเนื้อหามาจากอินเตอร์เน็ต แต่ทางกายภาพนั้นยังเป็นกระดาษอยู่ ซึ่งการวิเคราะห์ประเภท (genre analysis) อาจทำให้การตั้งคำถามมีความให้ชัดเจนกว่านี้  เพราะคำถามบางข้อจากผลการสำรวจปี 2551 นี้ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การรวม "อ่านหนังสือนอกเวลาหรือทำงานทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์" เข้าด้วยกัน ตัวคำถามมีมิติให้ตีความผิดพลาดได้มากมาย

จิตวิทยาการอ่าน: ทำไมคนอ่านหนังสือ
การศึกษาด้านจิตวิทยาการอ่านนั้นมีมานานพอสมควร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การอ่านหนังสือสามารถจำแนกได้เป็นการอ่านการเพื่อการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเอง หรือเพื่อความเพลิดเพลิน การศึกษาด้านจิตวิทยาการอ่านส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่กลุ่มเด็กเสียเป็นส่วนมาก เนื่องจากเป็นช่วงของการพัฒนาทางสติปัญญา นักวิชาการด้านภาษาและการศึกษาส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการอ่านตั้งแต่เด็ก เพราะคิดว่าจะทำให้เกิดแรงส่งเสริมให้เกิดการอ่านเมื่อเติบโตขึ้นไป แต่แท้จริงแล้ว ไม่ว่างานวิจัย (รวมทั้งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ต่างก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันที่ว่า เมื่อโตขึ้น การอ่านหนังสือก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ทั้งนี้เนื่องจากแรงจูงใจในการอ่านนั้นน้อยลงนั่นเอง โดยเฉพาะกับเด็กที่มีทัศนคติไม่ดีต่อการอ่าน (McKenna, Ellsworth & Kear, 1995)

งานวิจัยหลายชิ้นพยายามจะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านกับคุณลักษณะทางการเรียนรู้หลายอย่าง (Clark & Rumbold, 2006) เช่น มีทักษะการเขียน ความเข้าใจเชิงภาษาได้ดี (เช่น ไวยากรณ์ คำศัพท์) มีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน มีความมั่นใจในตัวเอง มีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกได้ดีกว่า มีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและการตัดสินใจของมนุษย์ได้ดีกว่า นอกจากนี้งานวิจัยบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าคนที่อ่านหนังสือเพื่อความ เพลิดเพลิน มักจะมีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนมากกว่า (เช่น งานของ Bus, van ljzendoorm & Pellegrini, 1995) ดังนั้นที่ใครต่อใครที่มองว่าหนอนหนังสือเป็นคนที่ไม่มีสังคมนั้นอาจจะหันกลับมามองใหม่เสียแล้ว อย่างไรก็ตามทั้งหลายทั้งปวงงานวิจัยเหล่านี้ก็โยงไปข้อสรุปที่ว่า นักอ่านที่ดีมีแนวโน้มที่อ่านหนังสือมาก ในทางตรงกันข้าม คนที่อ่านหนังสือมากมักจะเป็นนักอ่านที่ดี ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "Matthew effect" (Stanovich, 1986)

ผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้ ก็คงจะเป็นนักอ่านที่ดีคนหนึ่ง (เพราะกว่าจะถึงย่อหน้านี้ได้ ก็คงจะต้องมีความเพลินเพลิน - หรือความอดทน - ในการอ่านมากพอสมควร) เคยลองถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า ทำไมเราถึงชอบอ่านหนังสือ...

บางคนบอกว่าอ่านแล้วได้ใช้จินตนาการ บ้างก็ว่าได้ใช้สมองในการคิดตามตัวหนังสือ แต่ลึก ๆ บางคนก็หาอะไรทำแก้เบื่อ แก้เหงา แต่หลัก ๆ แล้ว Dungworth และคณะ (2004) ชี้ว่า อารมณ์และความรู้สึกเป็นเหตุผลยอดนิยมที่ทำให้คนหันมาอ่านหนังสือ อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ตรงตามประสานักวิชาการ ปัจจัยในเชิงจิตวิทยาที่ำให้คนอ่านหนังสือมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1) ทัศนคติ อันได้แก่ ความรู้สึกและความเชื่อที่มีต่อการอ่าน 2) ความสนใจที่มีต่อประเภท เนื้อหา งาน (task) และบริบทของการอ่าน และ 3) แรงจูงใจที่หมายถึง สภาวะภายในตัวบุคคลที่ทำให้คนอ่านหนังสือ ซึ่งหลัก ๆ แล้วข้อ 3) แรงจูงใจนั้นดูเหมือนจะมีอิทธิพลมากกว่าเพื่อน ทั้งนี้แรงจูงใจสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ แรงจูงใจภายใน (intrinsic) และแรงจูงใจภายนอก (extrinsic)

แรงจูงใจภายใน เป็นเรื่องของความสนใจส่วนตัว เช่น ความต้องการเอาชนะตนเอง ความสนใจใคร่รู้ ความต้องการรสชาติในชีวิต ความต้องการปรับเปลี่ยนอารมณ์ การต้องการควบคุม (เช่น การควบคุมระยะ (pace) ในการอ่านที่สามารถจะเริ่มหรือจบ หรือหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากการดูทีวี หรือฟังวิทยุที่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคไม่สามารถควบคุมเองได้) ความต้องการหลีกหนี (จากความซ้ำซากจำเจ หรือจากความรู้สึกที่ไม่ดี เป็นต้น) นอกจากนี้บางคนต้องการอ่านหนังสือเพื่อให้นอนหลับ บางคนก็ต้องการอ่านแล้วทำให้รู้สึกเหมือนเจอเพื่อนเก่า (ในกรณีที่อ่านหนังสือเล่มเดิมหลายรอบ) รวมไปถึงความต้องการใช้จินตนาการ (Nell, 1988, p.43) เป็นต้น

นอกจากนี้แรงจูงใจภายในยังรวมถึง เรื่องของ "การเสพติดการอ่าน" ด้วย ในสมัยก่อน ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 นักวิจารณ์ชี้ว่า การเสพติดการอ่านมักไม่ค่อยเกิดขึ้นกับการอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ในขณะที่การเสพติดนิยายนั้นเป็นมีมากกว่า โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า อาจเป็นเพราะคนอ่านหนังสือช้ามักนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารมากกว่าการอ่านนวนิยาย ดังนั้นก็จะทำให้ยอมแพ้ได้ง่าย (Nell, 1988) ซึ่งในยุคหลัง ๆ มานี้เห็นจะไม่จริงเสียทีเดียว เพราะหนังสือพิมพ์กับนิตยสารก็สามารถเสพติดได้เช่นกัน หนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะออกรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน คนที่อ่านหนังสือพิมพ์ทุกเช้า อาจจะมีความรู้สึกแปลกประหลาดหากไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ก่อนออกจากบ้าน บางรายก็อาจมีอาการกระวนกระวาย ถึงขั้นโวยวายได้ ซี่งอาการของการเสพติดนี้ อาจไม่ใช่เกิดจากการเสพติดการอ่านโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการเสพติดความอยากรู้อยากเห็นไปด้วย ยิ่งปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากในกระบวนทัศน์การอ่านหนังสือ และการพูดถึงเรื่องการเสพติดอินเตอร์เน็ตก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งแน่นอนการใช้อินเตอร์เน็ตไม่จำเป็นต้องเป็นการอ่านอย่างเดียว แต่ยังประสานเข้ากับการเล่น การชม การฟังและการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย บางคนตื่นมาแต่เช้าต้องเข้ามาอ่านอีเมล์ อ่าน feed ต่าง ๆ เป็นประจำ วันไหนไม่ได้อ่านก็ให้รู้สึกผิดแปลก ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เริ่มมีการถกเถียงกันมากขึ้น

ในขณะที่แรงจูงใจภายนอกนั้นเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ไม่ว่าจะเป็น การต้องการเป็นที่นิยมชมชอบ การต้องการเอาชนะหรือทัดเทียมผู้อื่น การต้องการได้รับผลตอบแทน (เช่น ผลการเรียน) เป็นต้น ซึ่งแรงจูงใจทั้งสองประเภทต่างก็มีผลต่อพฤติกรรมการอ่านที่แตกต่างกัน ทั้งในเชิงประสิทธิผลและประสิทธิภาพ นักวิชาการได้พยายามจะหาวิธีทางเพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะการใช้สิ่งเร้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงินหรือรางวัลต่าง ๆ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า สิ่งเร้าเหล่านี้ สามารถช่วยให้คนอ่านหนังสือได้มากขึ้นจริงหรือไม่

การอ่านและงานห้องสมุด

ที่เขียนมาทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผู้เขียนต้องการจะแนะนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการอ่านที่สามารถนำไปใช้ ประโยชน์ในการพัฒนาห้องสมุดและศูนย์บริการสารสนเทศต่าง ๆ เผื่อผู้ที่สนใจจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดความเข้าใจในเรื่อง พฤติกรรมการอ่านและไปปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ไม่มากก็น้อย การศึกษาและการวิจัยด้านการอ่านของไทยในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นไปอย่างผิวเผิน ดูได้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยังค่อนข้างจะหละหลวมในเชิงกระบวนวิธีวิจัย ผู้เขียนเองก็ต้องออกตัวก่อนว่ามิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านโดยตรง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างการรู้สารสนเทศและการอ่านออกเขียนได้เป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน กล่าวคือ คนที่อ่านออกเขียนได้ดีก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีทักษะการรู้สารสนเทศที่ดีกว่า ในทางตรงกันข้างคนที่มีทักษะการรู้สารสนเทศที่ดีก็มีแนวโน้มที่จะเป็นนักอ่านที่ดีด้วยเช่นกัน บรรณารักษ์และนักสารสนเทศในฐานะที่สัมผัสกับการอ่านอยู่เป็นสรณะ จึงควรเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านให้มากขึ้น โดยเฉพาะการอ่านในฐานะเครื่องมือของการศึกษาตลอดชีวิต

ความรู้เรื่องการอ่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ ของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศได้ ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างโดยจำแนกตามประเภทของงานได้ดังนี้

งานพัฒนาทรัพยากร (collection development)
ห้องสมุดมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือห้องสมุดเฉพาะ ห้องสมุดเหล่านี้ต่างมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แตกต่างกันไป กลุ่มผู้ใช้ก็มีความต้องการและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งความต้องการและพฤติกรรมที่ว่านี้ก็รวมไปถึงพฤติกรรมการอ่านด้วย ห้องสมุดประชาชนดูเหมือนจะห้องสมุดที่ตอบสนองการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินมากที่สุด ในขณะที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเฉพาะ และห้องสมุดโรงเรียนก็เน้นไปที่การอ่านแบบจริงจัง ซึ่งการอ่านทั้งสองประเภทต่างก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป การจัดหาทรัพยากรก็ควรจะต้องตอบสนองพฤติกรรมการอ่านที่แตกต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านเนื้อหา รูปเล่ม หรือรูปแบบการนำเสนอ (สิ่งพิมพ์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์)

งานบริการ
เมื่อพูดถึงงานบริการ คนมักนึกถึงงานยืม คืน และงานบริการตอบคำถามเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งงานทั้งสองต่างก็สามารถนำความรู้เรื่องการอ่านไปใช้ได้เช่นเดียวกัน เช่น การนำความเข้าในเรื่องการอ่าน ไปปรับระยะนโยบายการยืมหนังสือ เช่น ยิ่งอ่านมาก ยิ่งได้เวลาในการอ่านมากขึ้น หรือยืมหนังสือได้มากขึ้น เป็นต้น

หรืออย่างในกรณีของบริการตอบคำถามช่วยการค้นคว้า ก็สามารถใช้ความเข้าใจในด้านการอ่านมาประเมินผู้ใช้ (คนถามคำถาม) ก่อนให้ความช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตามการถามคำถามประเภท "ช่วยแนะนำหนังสือที่แนวเดียวกับหนังสือชื่อ ก. ได้ไหม" หรือ "ช่วยแนะนำนักเขียนคนอื่นที่เขียนแนวเดียวกับผู้แต่ง ก. คนนี้ได้ไหม" ความเข้าใจของบางคนอาจคิดว่า บรรณารักษ์ต้องอ่านหนังสือมาทั้งห้องสมุดแล้ว เพราะฉะนั้นน่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างไม่ยากเย็น แต่จริง ๆ แล้วหาได้เป็นเช่นนั้น จากประสบการณ์การทำงานส่วนตัวในห้องสมุด ผู้เขียนพบว่า บรรณารักษ์หรือคนทำงานในห้องสมุดไม่ได้อ่านหนังสือมากกว่าคนอื่นเลย ดังนั้นแนวคิดของบริการแนะนำนักอ่าน (reader's advisory) โดยเฉพาะจึงเกิดขึ้น ห้องสมุดใหญ่ ๆ บางแห่งในอเมริกามีแผนก reader's advisory ที่แยกออกจากบริการตอบคำถามช่วยการค้นคว้า (reference) ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ในแผนกนี้จะได้รับการอบรมเฉพาะทาง โดยมีเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการแนะนำการอ่าน เช่น การวิเคราะห์ประเภท (genre analysis) หรือการสร้าง catalog ของนวนิยายขึ้นมาเฉพาะ (fiction catalog) หรือใช้ทักษะทางสังคมในการพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อจะได้ทราบว่าคนที่อ่านหนังสือประเภทนี้ อ่านหนังสืออะไรบ้าง นอกจากนี้คนที่ทำงานด้านนี้อาจยังต้องสังเกตจากการใช้ภายในห้องสมุด หรือสถิติการยืมคืนว่า คนทั่วไปเค้าอ่านอะไรกัน ซึ่งจากกระบวนการสังเกตดังกล่าว เป็นที่มาของการจัดชั้นหนังสือแบบ "เพิ่งส่งคืน" (หรือ just returned) กล่าวคือ เมื่อผู้ใช้คืนหนังสือ แทนที่บรรณารักษ์จะนำกลับไปขึ้นที่ชั้นปกติทันที ก็กลับนำไปตั้งไว้ที่ชั้นเฉพาะกิจสำหรับหนังสือที่เพิ่งส่งคืน ผู้ใช้ก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองว่า ผู้ใช้คนอื่นเค้าอ่านอะไรกัน ซึ่งเป็นบริการที่เพิ่มคุณค่าให้หนังสือได้อีกทางหนึ่ง และนับว่าเป็นแนวความคิดที่ใช้ "ความโปร่งใส" ให้เกิดประโยชน์

สำหรับคนที่ไม่ได้ทราบเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ หรือไม่ได้สังเกตการจัดชั้นหนังสือ อาจไม่ทราบว่า การจัดการนวนิยายและหนังสืออ่านเล่นนั้นจะมีการจัดหมวดหมู่ที่แตกต่างไปจาก การจัดชั้นหนังสือทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการค้นหานั้นแตกต่างกัน และการให้หมวดหมู่ตามหัวเรื่อง (ความเกี่ยวข้อง) ให้กับนวนิยายและหนังสือ นั้นมักคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นส่วนใหญ่เราจะเห็นหนังสือในหมวดนวนิยาย และหนังสืออ่านเล่นเรียงตามชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง หรือประเภท (Genre) ตามแต่ละห้องสมุดเลือกใช้ การลงรายการตาม catalog ก็ค่อนข้างจะไม่ละเอียดเท่าหนังสือทั่วไป เพราะฉะนั้นการแนะนำหนังสือนวนิยายจะมีความยากกว่าการแนะนำหนังสือทั่วไป

นอกจากนี้ คนที่ทำงานด้าน reader's advisory ยังต้องเป็นผู้นำในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ซึ่งกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่ง คือ ชมรมนักอ่าน (book club) วิธีการของการจัดตั้งและดำเนินการของชมรม ก็มีหลักการง่าย ๆ ก็คือ กำหนดหนังสือ/สิ่งพิมพ์มาหนึ่งเล่ม แล้วให้สมาชิกทุกคนไปอ่าน เมื่อถึงเวลาก็ให้มาพูดคุยกันถึงเรื่องหนังสือที่ได้อ่านไป และโดยมากก็จะกลายเป็นกิจกรรมทางสังคมไปในตัว กล่าวคือ นอกเหนือจากจะได้อ่านหนังสือแล้ว ยังได้เพื่อนอีกด้วย ซึ่งผลประโยชน์ทางสังคมกลายมาเป็นจุดดึงดูดของกิจกรรมนี้ไปโดยปริยาย ในอเมริกาชมรมนักอ่าน ถือว่ามีบทบาทมากในสังคมและวัฒนธรรมของคนอเมริกันโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง (Long, 2003) กิจกรรมชมรมนักอ่าน ได้กระจายตัวออกไปไม่เพียงแต่ในห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังไปถึงสถาบันการศึกษา องค์กรและบริษัทต่าง ๆ ยกตัวอย่าง สถาบันที่ผู้เขียนศึกษาอยู่นี้ ทุกปีก็จะมีการคัดเลือกหนังสือเพื่อให้หนังสือได้อ่าน ในระหว่างนั้นอาจมีการเชิญผู้เขียนมาปาฐกา บรรยาย หรือพูดสุนทรพจน์ จนถึงช่วงเปิดเทอมของทุกปี หลังจากที่ทุกคนกลับมาจากพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน ก็จะมีการสัมมนาเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าว ในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนก็จะมีการอ้างถึงหนังสือดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ห้องสมุดและร้านขายหนังสือของโรงเรียนก็จะมีหนังสือเล่มดังกล่าวให้บริการ/ จำหน่าย กิจกรรมเช่นนี้ นอกจากจะส่งเสริมให้คนได้อ่านหนังสือแล้ว ยังถือเป็นรางวัลได้กับคนเขียนอีกด้วย เพราะการที่หนังสือได้รับคัดเลือกก็คือว่าเป็นงานเขียนที่มีคุณภาพ และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดหนังสือที่มีคุณภาพขึ้นมาเรื่อย ๆ

งานเทคนิค
หลายคนอาจจะสงสัยว่า การลงรายการกับความรู้เรื่องการอ่านจะไปด้วยกันได้อย่างไร เพราะบรรณารักษ์ลงรายการมักจะอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้ติดต่อกับผู้ใช้โดยตรง หากแต่คนที่ทำงานในแผนกนี้นั้นจริง ๆ แล้วติดต่อกับผู้ใช้ผ่านระบบสืบค้นทรัพยากรห้องสมุด (หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม OPAC) ดังนั้นแนวคิดของอิทธิพลของการอ่านที่มีต่องานเทคนิคนั้นจึงอยู่ที่ระบบสืบค้นนั่นเอง ตัวอย่างของแนวคิดพัฒนาระบบสืบค้นจากความเข้าใจด้านการอ่านนั้นก็สืบเนื่อง มาจากการแนะนำหนังสือจากงานบริการ การค้นหาหนังสือผ่านระบบสืบค้นของห้องสมุดส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ตัวระบบสืบค้นก็มีการแนะนำหนังสือด้วยเช่นกัน แต่เป็นการแนะนำหนังสือผ่านหัวเรื่อง (subject heading) ที่บรรณารักษ์เป็นคนกำหนด อย่างไรก็ตามการแนะนำหนังสือนั้นสามารถใช้ตัวช่วย (clue) อื่น ๆ เข้ามาช่วยได้ด้วย เช่น สถิติการยืมคืน การใช้งาน feedback จากผู้ใช้ ดังนั้นแนวคิด web2.0 ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งการนำ collective data มาใช้ ก็จะทำให้การแนะนำนั้นมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ระบบแนะนำหนังสือของ amazon.com ที่ไม่เพียงแต่จะใช้ยอดขายและความเกี่ยวข้องในเชิงบรรณานุกรมเข้ามาใช้เท่า นั้น แต่ยังรวมไปถึงระบบ feedback ต่าง ๆ อย่างเช่น  comment และ rating เข้ามาคำนวณด้วย ซึ่งทำให้เพิ่มความแม่นยำมากขึ้น ยอดขาย/สถิติการยืมคืนเพียงอย่างเดียวอาจบอกถึงความนิยม แต่ความนิยมก็มิได้บ่งบอกถึงคุณภาพของสิ่งของเสมอไป

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุด
งานศึกษาวิจัยด้านการอ่าน ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงจิตวิทยาเชิงสติปัญญาหรือพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาด้านสรีรวิทยาด้วย ความเข้าใจในด้านสรีรวิทยาของการอ่าน สามารถนำไปพัฒนางานด้าน Human Computer Interaction ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง งานของ Cathy Marshall ซึ่งตั้งอยู่บนคตินิยมที่ว่า จะทำอย่างไรให้การอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์คล้ายกับการอ่านบนกระดาษ งานวิจัยในลักษณะนี้ เป็นงานวิจัยที่ศึกษาว่าคนมีพฤติกรรมอย่างไรกับหนังสือ เช่น การจับ การพลิก การวาง การนั่งอ่าน นอนอ่าน ปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีก็พยายามเป็นไปในทิศทางเช่นนั้น เช่น การออกแบบเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการจับความเคลื่อนไหวของดวงตา (eyetracking) ด้วย ซึ่งอย่าลืมว่าการศึกษาดังกล่าวเป็นที่มาของการคิดคำนวณอัตราของค่าโฆษณา ที่แตกต่างกันทั้งบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

เมื่อเอ่ยถึง "ห้องสมุด" นั้นมักจะมีภาพของ "หนังสือ" ติดมาอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะย้ำเตือน ก็คือ "ห้องสมุด" มีหลายมิติที่นอกเหนือจากเรื่องหนังสือเพียงด้านเดียว หนังสือยังคงเป็นเพียงแหล่งสารสนเทศประเภทหนึ่งที่ำนำมาซึ่งความรู้ ความรู้สึก อารมณ์ต่าง ๆ การอ่านก็เป็นเพียงทักษะหนึ่งที่ช่วยเปิดประตูไปสู่การได้มาซึ่งสารสนเทศ ที่ต้องการ (และที่ไม่ต้องการ) ยังมีแหล่งสารสนเทศประเภทอื่น รูปแบบอื่นอีกมากมายให้พัฒนา ยังมีกิจกรรมและกระบวนการอื่น ๆ ที่ทำให้เราสามารถได้มาซึ่งสารสนเทศ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการอ่านก็สามารถต่อยอดไปสู่การเปิดรับสารสนเทศในรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย ผู้เขียนมิได้ต้องการจะให้ห้องสมุดกลับไปเน้นเรื่องหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น เพียงแต่ต้องการจะเน้นย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่บรรณารักษ์และนักสารสนเทศควรจะ ต้อง "รู้ลึก" นอกเหนือไปจากการรู้กว้างตามการเปลี่ยนแปลงของโลก

ที่มา:  http://www.onopen.com/songphan/09-03-17/4670

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น