วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธนาคารรักษ์โลก กับ ห้องสมุดสีเขียว


ธนาคารรักษ์โลก กับ ห้องสมุดสีเขียว


ห้องสมุดสีเขียว” (Green Library) ตั้งตระหง่านอยู่ใน สวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในชุมชนร่มเกล้า เขตลาดกระบัง คือห้องสมุดประชาชนต้นแบบ ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐาน LEED  (Leadership in Energy and Environmental Design) มาตรฐานสากลสำหรับการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม…
นี่คือผลิตผลจากความร่วมมือของ ธนาคารเอชเอสบีซีกรุงเทพมหานคร และเหล่าพันธมิตรหัวใจสีเขียว
“นโยบายด้านสังคม เรามุ่งเน้นไปในสองเรื่อง คือ สิ่งแวดล้อมและการศึกษา ห้องสมุดสีเขียวนับเป็นการตอบโจทย์ทั้งสองด้าน”
มร.แมททิว ล็อบเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย บอกกับเราถึงโปรเจคล่าสุดของพวกเขา ก่อนจะบอกเล่าเจตนารมณ์การเป็นธนาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดหลายปีที่ผ่านมา
พวกเขาเชื่อว่า ธุรกิจธนาคารจะยั่งยืนได้ ต้องให้ความสำคัญกับ “ผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม” นั่นเองที่ทำให้ตั้งแต่ปี 2550  เป็นต้นมา วิถีแห่งกรีนค่อยๆ ซึมซับเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรมของเอชเอสบีซีทั่วโลก
เอชเอสบีซีมีเครือข่ายสาขาประมาณ 7,200 แห่ง ใน 85 ประเทศ พวกเขาเริ่มจากทยอยปรับปรุงอาคารสำนักงานทั่วโลก ให้เป็น “อาคารสีเขียว” ถึงวันนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 24 แห่ง
หัวใจของการเป็นองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม เอชเอสบีซี เลือกที่จะดึงความร่วมมือจากพนักงาน มาร่วมนำเสนอไอเดียประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในองค์กร เช่นเดียวกับประเทศไทย ไอเดียดีๆ มีพนักงานอยู่เบื้องหลัง
เช่น วิธี “ลดขยะ” โดยการกำจัด “ถังขยะ” วิธีคิดง่ายๆ แต่สามารถลดขยะในสำนักงานลงไปได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ หรือการประหยัดน้ำด้วยการเปลี่ยนหัวก๊อกให้เป็นระบบเซ็นเซอร์ เหล่านี้ เป็นต้น
“ในประเทศไทยเรามีโครงการที่จะจัดการแข่งขันในกับพนักงานของเรา ให้ช่วยกันเสนอไอเดียประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำ กระดาษ และไฟฟ้าในอาคารของเราเอง เราพยายามที่จะทำให้เขามามีส่วนร่วม มีความภูมิใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดความรักองค์กรและมีความสุขกับการทำงานให้องค์กร”
ซีอีโอธนาคารรักษ์โลก บอกกับเราถึงวิธีคิดในการดึงพนักงานมามีส่วนร่วม ซึ่งผลสุดท้ายไม่เพียงแต่โลกที่ได้รับ แม้องค์กรเองก็ได้ประโยชน์จากความร่วมมือนั้นด้วย
ภาพสะท้อนของการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกิจกรรมโดยพนักงาน  คือการนำพนักงานกว่า 2,000 คน เข้าอบรมการเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (climate champion) ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเอิร์ทว็อช เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่จะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและการอยู่ร่วมกัน แน่นอนว่าภายหลังการอบรม พนักงานเหล่านี้ ก็จะกลับมาริเริ่มโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในสำนักงานของพวกเขาได้
การเป็นธนาคาร ที่มีธุรกิจอยู่ทั่วโลก ทำให้พวกเขา สามารถแบ่งปันประสบการณ์หรือความสำเร็จของประเทศต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น การประหยัดการใช้ไฟฟ้าของเอชเอสบีซี ในอเมริกาเหนือ การประหยัดน้ำของเอชเอสบีซี ดูไบ โครงการ Project Green Angel เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของธนาคารเอชเอสบีซีไต้หวัน ที่สามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน ปลูกสำนึกด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้ E-statement ของพนักงานได้
แม้แต่โครงการห้องสมุดสีเขียวในประเทศไทย ก็กลายเป็นหนึ่งต้นแบบ ให้กับเอชเอสบีซี ทั่วโลก
หนึ่งในวิธีคิดที่น่าสนใจ สอดคล้องไปกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร คือนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนโครงการซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“Equator Principles” คือกรอบหรือแนวทางการพิจารณาความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของสถาบันการเงิน เช่น โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ หรือสาธารณูปโภคด้านการคมนาคม นี่เองที่ทำให้ เอชเอสบีซี มีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง และใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ หรือการให้คำปรึกษาแนะนำกับโครงการ
พวกเขาบอกขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่ประเมินผลกระทบโครงการ โดยแบ่งระดับของผลกระทบออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Aโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรง ระดับ B โครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงจำกัด และระดับ C คือโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยหรือไม่มีเลย
หลังจากนั้นก็จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งการพิจารณาปล่อยสินเชื่อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโครงการสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านธุรกิจได้แล้ว จากนั้นก็ตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการ
นี่คือวิถีปฏิบัติของพวกเขา เพื่อประกาศเอาจริงกับแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม
การเป็นธุรกิจธนาคาร แน่นอนว่า พวกเขาไม่ได้เชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง เมื่อต้องการจุดประกายแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมไปยังสังคมในวงกว้าง  เอชเอสบีซี เลือกที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรแทนการฉายเดี่ยว
“การทำงานโดยที่เราไม่มีประสบการณ์มันยาก ต้องหาพันธมิตร หาความร่วมมือจากคนที่เชี่ยวชาญกว่า เพื่อให้สามารถมีพลังในการทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น”
ผู้บริหารเอชเอสบีซีประเทศไทย บอกวิธีคิด พร้อมยกตัวอย่าง “ห้องสมุดสีเขียว” ที่เกิดขึ้นได้จากพลังของความร่วมมือ ไม่ว่าจะกรุงเทพมหานครเจ้าของสถานที่ กับเหล่าพันธมิตรที่นำความเชี่ยวชาญทั้งงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ความรู้ความเข้าใจในการออกแบบและก่อสร้างอาคารรักษ์โลกให้ได้มาตรฐานสากล กระทั่งบริจาคอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องสมุดสีเขียว เพื่อที่พลังเล็กๆ จะขยายผลออกไปได้ใหญ่ขึ้น นำมาสู่โครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้น
นี่คือสิ่งที่พวกเขาคิด แล้วลงมือทำ และหวังที่จะขยายโครงการน้ำดี ออกไปสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง จากวิธีคิดเดียวกันนี้
เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2431 ปัจจุบันดูแลลูกค้าจำนวนกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก มีสินทรัพย์รวม 2,556 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554)
หนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากนโยบายการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ควบคู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น