วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

  กลยุทธ์การตลาดกับงานบริการสารสนเทศ

 
 
 
จากเมื่อเดือนที่แล้ว ได้ลง blog เกี่ยวกับเรื่อง ” การตลาดกับงานบริการ ” ถ้าใครได้ติดตามคงทราบกันดีว่า การตลาดกับงานบริการเกี่ยวข้องกันอย่างไร ส่วนในเดือนนี้เรามาติดตามกันต่อว่า การตลาดที่เราคุ้นๆ นี้จะมีการนำมาใช้อย่างไรกับงานบริการของเรา
 
 
 
 
กลยุทธ์การตลาดกับงานบริการสารสนเทศ
 
 
 
 
หลักการตลาดที่นำมาใช้ในงานบริการสารสนเทศ เรียกสั้นๆ ว่า “กลยุทธ์การตลาด” กล่าวคือ กลยุทธ์การตลาดเป็นการวางแผนการดำเนินงานห้องสมุด เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการ ที่เรียกว่าส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) หรือ 4P ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) สถานที่ให้บริการ (Place) ราคา (Price) และการส่งเสริมการใช้สารสนเทศและบริการ (Promotion) ในการวางแผนการดำเนินงานของห้องสมุด จะทำให้เราทราบถึงสิ่งที่ต้องทำก่อนหลัง และยังสามารถช่วยให้เข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้ และนำไปใช้ในการจัดหาทรัพยากรสารนิเทศ เพื่อให้สามารถจัดบริการให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ลักษณะของการนำ “กลยุทธ์การตลาด” มาใช้ ตามหลักของส่วนประสมทางการตลาด ดังนี้
 
Ø Product โดยในรูปแบบของสำนักหอสมุดจะหมายถึง ผลิตภัณฑ์หรือบริการของห้องสมุดนั่นเอง ซึ่งบริการของห้องสมุด ยกตัวอย่างเช่น บริการยืม – คืน บริการสืบค้นข้อมูลสารนิเทศ บริการตอบคำถามช่วยการค้นคว้า บริการวารสารและเอกสาร บริการโสตทัศนวัสดุ บริการนำส่งเอกสารระหว่างห้องสมุด บริการยืมระหว่างห้องสมุด เป็นต้น ห้องสมุดได้จัดให้มีบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อให้ทรัพยากรสารนิเทศที่ห้องสมุดได้จัดซื้อจัดหามา ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
 
Ø Place คือสถานที่ให้บริการหรือช่องทางการให้บริการสารสนเทศของห้องสมุด ในส่วนของอาคารสถานที่นั้น สำนักหอสมุดต้องปรับปรุงห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต ทำให้มีบรรยากาศน่าเข้ามาใช้บริการ มีอาคารสถานที่ที่สวยงาม และมีป้ายบอกแหล่งทรัพยากรสารนิเทศที่ชัดเจน สำหรับช่องทางในการให้บริการสารสนเทศ ควรมีการจัดทำเว็บไซต์ของห้องสมุด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลของห้องสมุดได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางมายังห้องสมุด ซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการเข้าถึงทรัพยากรสารนิเทศของห้องสมุดได้อีกทางหนึ่งด้วย และสำนักหอสมุดควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ โดยมีทั้งโครงการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทย (Thai LIS) ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) เป็นต้น เครือข่ายความร่วมมือเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ต่อห้องสมุดต่างๆ ในการใช้ทรัพยากรสารนิเทศร่วมกัน ส่งผลให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ทรัพยากรสารนิเทศจากห้องสมุดต่างๆ ได้อย่างมากมาย หลากหลาย และสะดวกในการขอใช้บริการไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด
 
Ø Price สำหรับในส่วนของราคา เนื่องจากสำนักหอสมุดเป็นองค์กรที่ไม่ได้หวังผลกำไร จึงไม่สามารถวัดมูลค่าในเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาว่าผู้ใช้ได้รับบริการที่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปหรือไม่ โดยสำนักหอสมุดมีความต้องการที่จะพัฒนาบริการของตนเองให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าคุ้มค่าเมื่อมาใช้บริการ
 
Ø Promotion ในส่วนของการส่งเสริมการใช้ห้องสมุด ทางสำนักหอสมุด และห้องสมุดคณะต่างๆ ควรดำเนินการศึกษาผู้ใช้และประเมินการใช้บริการห้องสมุดเป็นประจำ เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ และบริการของห้องสมุด เช่น การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษาผู้ใช้โดยเจาะลึกเฉพาะกลุ่มบุคคลหรือโฟกัส กรุ๊ป เพื่อทราบความต้องการของผู้ใช้แต่ละประเภท และนำผลการศึกษา ไปจัดหาทรัพยากรสารนิเทศ และจัดบริการให้ตอบสนองต่อตามความต้องการของผู้ใช้ให้มากยิ่งขึ้น

การนำแนวความคิดทางการตลาดมาประยุกต์ใช้กับงานบริการสารสนเทศนั้น จะทำให้เห็นแนวทางในการจัดบริการสารสนเทศ ที่ตอบสนองความต้องการที่ผู้ใช้คาดหวังได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน สมบูรณ์ ทันสมัย และก่อให้เกิดความสำเร็จในงานบริการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและทำให้ผู้ใช้ได้ตระหนักถึงคุณค่าที่ได้รับจากการใช้บริการ และพึงพอใจที่จะมาใช้บริการของห้องสมุดอีกในภายหลัง ถ้ามีการนำมาปรับใช้แล้วก็ควรพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนวิธีต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของการบริการสารสนเทศของห้องสมุดอย่างแท้จริง


ที่มา http://blog.lib.kmitl.ac.th/?p=7007

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น