วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


การพัฒนาห้องสมุดพิทยาลงกรณ ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21
                             เขียนโดย วนิดา ศรีทองคำ**
                   ขณะนี้ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ( 2001 – 2100)  มาแล้ว 12 ปี ผู้เขียนได้เห็นการพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยไทยหลายด้านที่ทำให้ห้องสมุดแตกต่างไปจากแบบดั่งเดิมมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มาช่วยการปฏิบัติงาน โดยมักจะเรียกกันว่า “ห้องสมุดอัตโนมัติ” "ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์" เช่น มีการนำโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติมาใช้จัดเก็บรายการบรรณานุกรมแทนบัตรรายการทำให้สืบค้นรายการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง สามารถยืมคืนด้วยระบบอัตโนมัติ รวมถึงการยืมคืนด้วยตนเองผ่านเครื่องยืมอัตโนมัติ  และการคืนหนังสือผ่านตู้รับคืนอัตโนมัติ     ห้องสมุดหลายแห่งปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารห้องสมุดที่ร่วมสมัยขึ้น เน้นให้มีบรรยากาศสะดวก สบาย สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีประตูควบคุมทางเข้าอัตโนมัติ และเพิ่มช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางการสื่อสารร่วมสมัย เช่นเว็บไซด์  เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ บล๊อก เป็นต้น แต่การจะก้าวไปสู่ห้องสมุดดิจิตอลที่สมบูรณ์ ทุกห้องสมุดในประเทศยังไปไม่ถึง และโดยเฉพาะห้องสมุดระดับคณะ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการดำเนินการ  งบประมาณที่ห้องสมุดระดับคณะได้รับไม่เพียงพอต่อการที่จะปรับห้องสมุดแบบดั่งเดิมที่ยังใช้กำลังคนทำงานซ้ำซากเช่น การให้บริการยืม-คืน การตรวจทางเข้า-ออก จึงทำให้ห้องสมุดระดับคณะไม่สามารถก้าวไปสู่ห้องสมุดอัตโนมัติได้อย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับห้องสมุดของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในปัจจุบันผู้เขียนจึงคิดว่าห้องสมุดระดับคณะอาจสามารถก้าวข้ามไปสู่ห้องสมุดดิจิตอลได้หากพัฒนาภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21   การเป็นห้องสมุดดิจิตอล หมายถึงการที่นิสิต บุคลากรของคณะและผู้ใช้ทั่วไป สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศฉบับเต็มผ่านเครือข่ายโดยไม่ต้องเข้ามาห้องสมุด และลักษณะทางกายภาพของห้องสมุดระดับคณะจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกันที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายเป็นฐาน (Web based)  
Lewis, David W.(2007) ได้กำหนดประเด็นกลยุทธ์การพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยในต้นศตวรรษที่ 21 ดังนี้
1.แปลงเอกสารฉบับพิมพ์ไปสู่เอกสารฉบับอิเล็คทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์
2.จัดการเอกสารฉบับพิมพ์อันเป็นมรดกทางปัญญาที่มีผู้ใช้น้อย เข้าสู่คลังหนังสือ
3.ปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยของห้องสมุดให้เป็นสถานที่เรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ
4.รวบรวม เครื่องมือสำหรับการสืบค้น  การรวบรวม การสร้าง และมีผู้เชี่ยวชาญ แนะนำการใช้ เพื่อการเรียนรู้ 
5.ลดการจัดซื้อเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่การการจัดการเนื้อหา (curating content)ดิจิตอล  
1.การแปลงเอกสารฉบับพิมพ์ไปสู่เอกสารฉบับอิเล็คทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ 
                     ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการแปลงเอกสารฉบับพิมพ์ไปสู่เอกสารฉบับอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหนังสืออ้างอิง  วารสาร และหนังสือ โดยเผยแพร่ผ่านการบอกรับ (subscription) เป็นรายปี และอนุญาตสิทธิการเข้าใช้ผ่านระบบการยืนยันเข้าร่วม(Affiliate)ของสถาบันที่บอกรับ การบอกรับฐานข้อมูลวารสารและหนังสือทำให้งานการคัดเลือกของห้องสมุดลดลง เพราะห้องสมุดต้องบอกรับทั้งฐานข้อมูล  ไม่สามารถคัดเลือกแต่ละรายการเช่นเดียวกับการสั่งซื้อหนังสือฉบับพิมพ์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไทยได้จัดสรรงบประมาณในการบอกรับเพื่อนำมาบริการผู้ใช้แต่ละสถาบัน  และยังมีโครงการข่ายงานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทย ได้บอกรับฐานข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ร่วมกัน 13 ฐานข้อมูล เช่น Science Direct, ABIINFORM Business Source Complete, Proquest Dissertations & Theses เป็นต้น             
                    ในอนาคตการแปลงเอกสารฉบับพิมพ์ไปสู่เอกสารฉบับอิเล็คทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์คงจะดำเนินการเสร็จสิ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนชั้นจัดเรียงหนังสือ วารสารฉบับพิมพ์ลดลง และผู้ใช้เข้าถึงฉบับเต็มได้โดยไม่ต้องเข้ามาที่ห้องสมุด
ตัวอย่างการแปลงเอกสารสิ่งพิมพ์ไปสู่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ใน คลังเอกสารดิจิตอล งานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ (http://www.econ.tu.ac.th/econtuarchive/)

2.การจัดการเอกสารฉบับพิมพ์อันเป็นมรดกทางปัญญาที่มีผู้ใช้น้อย เข้าสู่คลังหนังสือ
                   หนังสือ และเอกสารฉบับพิมพ์ที่ห้องสมุดจัดบริการตั้งแต่ในอดีต  บางรายการอาจจะยังคงความสำคัญเป็นมรดกทางปัญญาที่ตกทอดต่ออนุชนรุ่นหลัง บางรายการมีผู้ใช้น้อย การจัดการหนังสือเก่าจะทำให้ห้องสมุดได้พื้นที่ใช้สอยที่เคยเป็นพื้นที่จัดเก็บและบริการหนังสือเก่าเหล่านั้น ให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้ใช้ในปัจจุบันเพิ่มขึ้น    ดังนั้นในต่างประเทศห้องสมุดมหาวิทยาลัยวิจัยขนาดใหญ่ได้สร้างคลังหนังสือ ที่เป็นอาคารเอกเทศ  ที่สามารถรองรับปริมาณหนังสือจำนวนมาก โดยมีระบบการจัดการที่ดีในคัดเลือกหนังสือ  เช่น ใช้โปรแกรมที่จัดเก็บรายการบรรณานุกรม WorldCat ทำการประมวลผลจำนวนรายการที่ต้องคัดออกตามเงื่อนไขที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนหนังสือฉบับพิมพ์ที่จะต้องจัดเก็บไว้ในคลังหนังสือ     หรือให้คณะวิชาที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณายืนยันความมีคุณค่าของสื่งพิมพ์เหล่านั้น ซึ่งต้องไม่พบในรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วยจึงจะจัดเก็บไว้ในคลังหนังสือ 
ตัวอย่างคลังหนังสือในต่างประเทศ http://www.youtube.com/watch?v=ez9Z7rHqk1Y 
                   สำหรับกรณีห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังไม่มีคลังหนังสือเป็นเอกเทศ แต่มีการดำเนินการแยกบริการหนังสือเก่าตามปีพิมพ์ที่กำหนด ออกจากพื้นที่บริการหนังสือปีพิมพ์ใหม่
3.การปรับเปลี่ยนและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยของห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการใช้สารสนเทศร่วมกัน
                  ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ควรจัดพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้หรือใช้สารสนเทศร่วมกัน( Information Commons” หรือ “Academic Common ) เช่น มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้ใช้งานหลายประเภท เช่นใช้งานเป็นกลุ่ม ใช้งานสอน  การวิจัย  มีพื้นที่สำหรับโครงการความร่วมมือกับห้องสมุดอื่น ๆ  มีที่นั่งเหมาะสม  มีพื้นที่ให้นิสิตได้แสดงกิจกรรมทางการคิดสร้างสรรค์ และห้องสมุดอาจจะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย ในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงความรู้ และเพื่อการทำงานร่วมกันของนิสิต 
                   ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยผู้เขียนได้เห็นการปรับปรุงพื้นที่ห้องสมุด บางแห่งมีโต๊ะปฏิบัติงานกลุ่มขึ้นในห้องสมุด โดยจัดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันของนิสิต   บางแห่งได้จัดให้มีพื้นที่ดื่มจำหน่ายกาแฟ ใน และเครื่องดื่ม ในห้องสมุด เพื่อความสะดวกสบายในขณะที่เข้ามาศึกษาค้นคว้า และเสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เช่นที่สำนักบรรณสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์   
   
                ภาพบรรยากาศภายในห้องสมุดนิด้า จากhttp://www.pantip.com/cafe/library/topic/K12260283/K12260283.html   
              การจัดสรรพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน อาจส่งผลต่อพื้นที่เงียบของห้องสมุด เช่น เช่น ผู้ใช้อาจโทรศัพท์เพื่อการเรียนรู้จากวิดีโอฟรีผ่านยูทูป เพราะโทรศัพท์ในปัจจุบันบางรุ่นมีสมรรถนะเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดเสียงรบกวน ดังนั้น แทนการติดป้าย “ห้ามการใช้”  ควรแนะนำ"มารยาทในการใช้" เพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องสมุดสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันโดยผู้ใช้สามารถเรียนรู้ร่วมกันผ่านเครื่องมือสื่อสาร เป็นต้น  สิ่งที่ห้องสมุดต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการปรับปรุงพื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นบริเวณชั้นหนังสือเก่าที่คัดออก

 4.ห้องสมุดควรรวบรวม เครื่องมือสำหรับการสืบค้น  การรวบรวม การสร้าง และมีผู้เชี่ยวชาญ แนะนำการใช้ เพื่อการเรียนรู้ 
                    Lewis (2007)อธิบายว่าจากการศึกษาพฤติกรรมการสืบค้นข้อมูลของมหาวิทยาลัย OCLC พบว่านิสิตระดับปริญญาตรีใช้ Google ในการค้นหาข้อมูล โดยใช้ห้องสมุดเป็นเพียงสถานที่ในการศึกษา แม้ว่าปัจจุบันยังไม่พบพฤติกรรมดังกล่าวในนิสิตระดับปริญญาโทหรือผู้สอนแต่ในอนาคตมีแนวโน้มเกิดความเปลี่ยนแปลง Lewis แนะนำให้ห้องสมุดจัด ชุดเครืองมือ สำหรับค้นหา รวมรวม และสร้าง รวมทั้งแบ่งปันความรู้บนเครือข่าย(Web based)  ที่ Lewis เรียกว่า “ Scholar’s collective “  
                    ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยผู้เขียนได้พบว่ามีการจัดชุดเครื่องมือ ได้แก่ โปรแกรมจัดการบรรณานุกรม EndNote หรือ โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกบทความวิชาการ (Plagiarism Prevention (Turn it in)) หรือ เครื่องมือช่วยสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศที่เชื่อมโยงจากฐานข้อมูลหลาย ๆ ฐานพร้อมกันโดยใช้ระบบ Web–scale discovery เช่น SUMMON เป็นต้น
                    แต่ยังไม่พบว่ามีห้องสมุดมหาวิทยาลัยของไทยแห่งใดที่ลงทุนในด้านเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานร่วมกันเช่น โปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติSASหรือ SPSS   โปรแกรมวิเคราะห์กราฟการซื้อขายหุ้น เป็นต้น         เมื่อมีเครื่องมือต่างๆ ห้องสมุดจำเป็นต้องให้บรรณารักษ์เชี่ยวชาญเฉพาะ ทำหน้าที่สอนและช่วยแนะนำให้นิสิตใช้เครื่องมือเพื่อช่วยการสืบค้น สกัดข้อมูลให้ตรงตามต้องการ หรือสร้างผลงานวิชาการโดยการใช้เทคโนโลยีตามหน้าที่ของแต่ละเครื่องมือ  จึงจะได้ใช้พื้นที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง  เครื่องมือบางชนิดควรมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแนะนำการใช้ อาจต้องประสานกับผู้สอนที่สอนในวิชาที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์มาช่วยแนะนำ                     
5.ห้องสมุดควรลดการจัดซื้อเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่การการจัดการเนื้อหาดิจิตอล (curating content)
                                ในปัจจุบันเนื้อหาวิชาการดิจิตอลที่เราเรียกว่า Open Access Literature หรือ OA Literature เผยแพร่เสรีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ผลงานวิชาการดังกล่าวนี้ผู้เขียนไม่ได้รับค่าตอบแทนในการเขียนบทความ ไม่มีลิขสิทธิ์  และไม่จำกัดสิทธิ์ในการเข้าใช้  ซึ่งนิสิตและคณาจารย์ได้ให้ความสนใจใช้เนื้อหาผลงานวิชาการ OA มากขึ้นด้วย เนื่อจากผลงานดังกล่าวน่าเชื่อถือ มีคุณภาพทางวิชาการสูง และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถสืบค้นผ่าน Google หรือ Google Scholar ทำให้ความต้องการใช้เอกสารฉบับพิมพ์และฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้องสมุดจัดซื้อมาบริการลดลง ดังนั้นบทบาทของห้องสมุดมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปจากที่เคยจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศเพื่อสนับสนุนประชาคม มาเป็นการจัดการเนื้อหาดิจิตอล เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ผู้ใช้เข้าถึงโดยเสรี  แต่อาจพบว่าคณะวิชา หรือผู้สอนไม่เห็นด้วยกับการที่ห้องสมุดลดการจัดซื้อเอกสารทั้งฉบับพิมพ์และฉบับอิเล็กทรอนิกส์และให้หันไปใช้เนื้อหาดิจิตอล(OA)แทน  ดังนั้นกลยุทธ์ที่ห้องสมุดต้องทำคือการสร้างความเข้าใจกับคณะวิชา ผู้สอน ในเรื่องความซ้ำซ้อนของเนื้อหา และข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจัดซื้อ 

ตัวอย่าง การจัดการเอกสารผลงานตีพิมพ์เสรีบนเครือข่ายของมหาวิทยาลัยPurdue (https://scholarworks.iupui.edu/handle/1805/1384)
 ภาพหน้าจอการจัดการเนื้อหาดิจิตอลของมหาวิทยาลัย Purdue
                        ในการจัดการเนื้อหา OA ห้องสมุดต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถในด้านการจัดเก็บและค้นคืน การสกัดข้อความจากเอกสาร การจัดทำข้อมูลที่ใช้กำกับที่อธิบายข้อมูลหลัก หรือกลุ่มข้อมูลอื่น ๆ (Matadata) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามแม้จะลดการซื้อทรัพยากรสารสนเทศมาบริการ แต่ห้องสมุดยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดการเนื้อหาดิจิคอล ดังนั้นห้องสมุดต้องทำให้เห็นความแตกต่างและประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนการจัดการเนื้อหาดิจิตอล
                     การจัดการเนื้อหาเท่าที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นการจัดทำโดยหน่วยงานที่มิใช่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเช่นคลังเอกสารสาธารณะ(http://www.openbase.in.th/)
 
                      
                 หากห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีการจัดการเนื้อหาดิจิตอลอันเป็นงานเขียนของอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ขึ้น ห้องสมุดควรคำนึงถึงการตอบแทนผู้เขียนด้วย  แม้ห้องสมุดไม่มีค่าตอบแทนทางการเงินแก่ผู้เขียน แต่ก็ควรมีระบบการแสดงการนำไปใช้อ้างอิง เพื่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจะกลับคืนสู่ผู้เขียนหรือผู้สร้างสรรค์ หรือมีระบบที่จะช่วยแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ทำให้เห็นคุณค่าเอกสารทางวิชาการ เป็นต้น  การจัดการเนื้อหาดิจิตอลนอกจากจะทำให้ห้องสมุดลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเอกสารสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังส่งผลถึงบทบาทของบรรณารักษ์ที่เพิ่มขึ้นเช่นมีบทบาทแนะนำรูปแบบการอ้างถึงเนื้อหาดิจิตอล รวมทั้งแนะนำเรื่องลิขสิทธิ์การเผยแพร่ภายใต้อนุสัญญาอนุญาตตรีเอทีฟคอมมอนต์ (creative common)เป็นต้น
แนวทางการพัฒนาห้องสมุดพิทยาลงกรณภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21
                       สำหรับห้องสมุดพิทยาลงกรณ หากจะพัฒนาให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ข้างต้นควรดำเนินการดังนี้
  1. จัดโครงการอบรมการเข้าถึงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งฐานข้อมูลวารสาร วิทยานิพนธ์ และหนังสือ ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาบอกรับ และสร้างเพื่อใช้ร่วมกัน ให้แก่นิสิตและบุคลากรอย่างทั่วถึง
  2. ยกเลิกการจัดเก็บเอกสารฉบับพิมพ์ภาษาไทยหากพบว่ามีฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ดำเนินการแปลงเอกสารของหน่วยงานตนเองและเผยแพร่ทางเว็บไซด์ไว้แล้ว
  3. จัดสรรงบประมาณบอกรับฐานข้อมูลเฉพาะสาขาเพิ่มเติม เช่น ฐานข้อมูล EconLit ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวารสารฉบับเต็มสาขาเศรษฐศาสตร์และที่เกี่ยวข้อง  ฐานข้อมูล JSTOR เป็นฐานข้อมูลวารสารที่สำคัญฉบับย้อนหลัง
  4. เปลี่ยนการจัดซื้อหนังสือภาษาต่างประเทศฉบับพิมพ์เป็นฉบับอิเล็กทรอนิกส์ หรือจัดซื้อฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมนอกจากที่ปรากฏในฐานข้อมูล EBSCO eBook Collection (เดิมชื่อ NetLibrary) และฐานข้อมูล Emerald ebook series 
  5. เสนอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำคลังหนังสือเอกเทศ ที่มีพื้นที่สามารถรองรับปริมาณหนังสือเก่าที่มีผู้ใช้น้อย โดยห้องสมุดคณะต่างในมหาวิทยาลัยสามารถนำหนังสือเก่ามารวมกันตามปีพิมพ์ที่กำหนด ทั้งนี้ต้องไม่นับรวมเล่มที่มีฉบับอิเล็กทรอนิกส์  โดยยังคงระบบสืบค้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงรายการที่ต้องการได้เช่นเดิม
  6. ปรับปรุงพื้นที่การอ่านและพื้นที่ที่จัดเก็บเอกสารฉบับพิมพ์ที่ถูกแทนที่ด้วยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ไปเป็นพื้นที่ที่สะดวก สบายในการเรียนรู้ร่วมกันเช่น จัดเป็นห้องศึกษากลุ่มที่สามารถใช้เทคโนโลยีในการสร้างผลงานวิชาการร่วมกัน 
  7. สนับสนุนให้มีการจัดหา หรือรวบรวมเครื่องมือในการเรียน การสอน และให้บริการแนะนำการใช้ เช่นแนะนำการใช้โปรแกรม endnote ในการจัดการบรรณานุกรม จัดหาและแนะนำการใช้โปรแกรมเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงานวิชาการ turnitin  จัดหาเครื่องมือที่ช่วยการสืบค้นที่ป้อนคำค้นเพียงครั้งเดียวสามารถสืบค้นได้หลายฐานข้อมูล เช่น Summon หรือ OCLC WorldCat รวมทั้งจัดหาโปรแกรมประมวลผลข้อมูลทางสถิติมาให้เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น
  8. เสนอให้สำนักหอสมุดมีบทบาทจัดการเนื้อหาดิจิตอล (Open Access Literature) ของอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พร้อมให้เผยแพร่บนเครือข่ายโดยเสรี โดยห้องสมุดพิทยาลงกรณจะเป็นคลังเนื้อหาวิชาการ (Academic Repository) สาขาเศรษฐศาสตร์ที่คณะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือประสานคณาจารย์หมุนเวียนเขียนเนื้อหาเพื่อกระตุ้น หรือให้ความคิดเห็นแก่สังคมในด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่ผู้สนใจสามารถเข้าถึงอย่างเสรีและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันจะเป็นการสร้างสังคมปัญญาในสาขาเศรษฐศาสตร์
                      การดำเนินการพัฒนาตามข้อเสนอข้างต้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะ โดยเฉพาะการจัดการเนื้อหาดิจิตอล ซึ่งแม้ไม่มีต้นทุนจัดทำเหมือนฉบับพิมพ์ เช่นค่าตอบแทนผู้เขียน (First copy cost) และต้นทุนส่วนเพิ่มที่แปรผันตามการจำหน่ายจริง (maginal cost) แต่ห้องสมุดก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของบรรณารักษ์ เช่นการกำหนดหมวดหมู่ กลุ่มประเภทเนื้อหา การกำหนดกลุ่มข้อมูลที่อ้างอิงไปยังข้อมูลฉบับเต็ม (Meta data) การกำหนดสารสังเขป (Abstract) การกำหนดรูปแบบบรรณานุกรมเพื่อการอ้างถึงของแต่ละเนื้อหา  รวมทั้งการสร้างระบบนับจำนวนการอ้างถึงอันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับผู้เขียน และหน่วยงาน ทดแทนผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงินแก่
คณาจารย์ผู้ผลิตผลงานวิชาการ


ที่มาจาก http://bidyalib.eco.ku.ac.th/index.php/stretragy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น