วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตำราเรียนดิจิทัล - ฉลาดคิด



                 ด้วยงบประมาณที่จำกัดของภาครัฐ  ตำราเรียนเดิม ๆ ที่ขาดสีสันอาจจะสวนทางกับนโยบายที่ต้องการจะเห็นเยาวชนของชาติมีพัฒนาการด้านการเรียนที่ดีขึ้น

…เพราะหนังสือเรียนคงไม่ดึงดูดใจเด็ก ๆ ได้เท่ากับหนังสือการ์ตูน …

เพื่อปฏิวัติวงการตำราเรียนครั้งใหญ่ของประเทศไทย  สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช (วพ.) ที่พิมพ์ตำราเรียนมากว่า 73 ปี ร่วมกับบริษัท ดิ แอสไพเรอร์ส กรุ๊ป ตัวแทนจำหน่ายและรวบรวมระบบด้านการศึกษาของบริษัท แอปเปิ้ล ประเทศไทย  พัฒนา “ตำราเรียนดิจิทัลบนไอแพด” พร้อมโซลูชั่นบริหารจัดการการเรียนการสอนยุคใหม่อย่างครบวงจร

“นายวรชัย จงพิพัฒนสุข” กรรมการบริหารบริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด บอกว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หนังสือกระดาษอาจไม่ใช่ทิศทางของเด็กในยุคหน้า  สำนักพิมพ์จึงต้องมีการปรับตัว ซึ่งเดิมคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ในการเปลี่ยนแปลง

แต่วันนี้...เนื่องจากโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาของรัฐบาล ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เร็วกว่าที่คิด วพ. จึงพัฒนาตำราเรียนดิจิทัล  ซึ่งใช้เทคโนโลยีของแอปเปิ้ลที่เรียกว่า “iBooks Author” ในการผลิต  ใช้งานกับเครื่องไอแพด หรือระบบปฏิบัติการไอโอเอส   

เบื้องต้นพัฒนาตำราเรียนดิจิทัลแล้วเสร็จ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั้งหมด

สำหรับตำราเรียนดิจิทัล นายวรชัย บอกว่า ไม่ใช่แค่ทำให้เด็กนักเรียนแบกกระเป๋าที่น้ำหนักน้อยลง  ลดการใช้กระดาษหรือว่าลดต้นทุนเท่านั้น    แต่ยังมีคุณสมบัติที่เหนือกว่า โดยเฉพาะลดข้อจำกัดด้านการปรับปรุงหรืออัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยเสมอ   ซึ่งปัจจุบันหากเป็นตำราเรียนจะต้องใช้นานถึง 5 ปี ถึงจะพิมพ์ได้ใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอ๊คทีฟ ไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ แต่จะมีวิดีโอ มีระบบจดโน้ตและไฮไลต์ข้อความที่สำคัญ รวมถึงเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ และแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ได้ทั่วโลก 
ระบบนี้จะทำงานสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับคลังข้อสอบ ระบบฐานข้อมูลธุรการของโรงเรียน  สามารถวิเคราะห์ผลการเรียนผลการสอนเด็กได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ปกครองและโรงเรียน สามารถเข้าไปแก้ไข สอนเสริมสอนเพิ่มให้เด็กนักเรียนได้ทันการ ไม่ต้องรอผลการสอบกลางภาคหรือปลายภาค เรียกว่าเป็นโซลูชั่นและเนื้อหา รวมถึงแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ สำหรับบุกตลาดการศึกษา  ซึ่ง วพ. มองว่าเฉพาะเนื้อหา ไม่นับฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์  ตลาดนี้ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 10 ล้านคน จะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านนายวิโรจน์ อัศวรังสี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ แอสไพเรอร์ส กรุ๊ป บอกว่า ปัจจุบันระบบดังกล่าวมีโรงเรียนสนใจแล้วกว่า 20 แห่ง

ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคุณครูและผู้ปกครองพร้อมที่จะลงทุนด้านอุปกรณ์อย่างไอแพด แต่ยังขาดเรื่องของเนื้อหา การพัฒนาระบบตำราเรียนดิจิทัลนี้  จึงเติมเต็มการเรียนรู้  และจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คุณครูมีเทคนิคดึงดูดใจในการสอนเด็ก ๆ มากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแค่ชอล์กกับกระดานแต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนหน้าที่ของคุณครูและหนังสือก็ยังเหมือนเดิม.  
ที่มา นาตยา  คชินทร   http://www.dailynews.co.th/technology/184395

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น