วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยุคใหม่ ต้องรู้ใจผู้ใช้


นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า การที่สภาพตลาดพีซี และโน้ตบุ๊คแผ่วลง หรือเข้าสู่ยุคโพสต์ พีซี การพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ต้องเปลี่ยนไปตามกลไกของตลาด มุ่งสู่โมบาย แอพพลิเคชั่น และแอนิเมชั่นมากขึ้น ส่วนซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ (เอ็นเตอร์ไพร้ซ) ก็หันไปวิ่งบนคลาวด์ คอมพิวติ้ง
การพัฒนาซอฟต์แวร์ยุคปัจจุบัน ยากตรงที่ทำอย่างไรให้เป็นที่โดนใจผู้ใช้ ต้องการคอนเทนต์ และอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย ทั้งคีย์บอร์ด กดปุ่ม การใช้งานต่างๆ เด็กๆ จะหันมาพัฒนาโมบาย แอพ และเว็บเบสด์ แต่โจทย์ไม่ใช่วิธีทำอย่างไร หากอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนใช้งานมาก เหมาะกับผู้ใช้วัยต่างๆ เด็ก ป.1 กับ ป.2 ก็ต้องการต่างกัน ทำอย่างไรถึงจะไม่น่าเบื่อ
"ปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยเขียนซอฟต์แวร์ที่เก่งและดีมาก ทำได้ง่ายและเร็วมาก เพราะฉะนั้น ความสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทำนั่น นี่ ใกล้เคียงกันมากขึ้น ความต่างคือ ต้องสร้างความแตกต่าง ต้องไปหาศาสตร์แขนงอื่นมาเสริม เช่น ทำอีเลิร์นนิ่งสำหรับเด็กประถม ก็ต้องคุยกับครู ดูพฤติกรรมเด็ก หรือทำให้คนทั่วไปใช้ ก็ต้องดูพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ ต้องศึกษาเพิ่ม และทำโลคัลไลเซชั่น เป็นการพัฒนาไปอีกขั้น"
เนคเทคต้องการส่งเสริมนวัตกรรมบริการ (Service Innovation) เพื่อให้เข้าใจความต้องการผู้ใช้ นำกลุ่มตัวอย่างมาทดสอบ และทดลองใช้งานจะมีวิธีอัตโนมัติอย่างไรเพื่อทดสอบ ซึ่งบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ จะนำคนใช้งานมาทดลอง เช่น พัฒนาเกมก็นำเซียนเกมมาทดลอง คนที่มีประสบการณ์มากๆ จะทราบว่าคนแบบไหนต้องการอย่างไร ซึ่งนักพัฒนาชาวไทยต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น รับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การประกวดพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ต้องมีโจทย์ให้ตอบความต้องการผู้ใช้ นำไปทำธุรกิจได้ สร้างคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
สยามกัมมาจลร่วมผลัก
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล หนึ่งในหน่วยงานสนับสนุนการจัดมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 กล่าวว่า จะคัดเลือก 10 โครงการที่เข้าแข่งขัน 500 โครงการ ที่มีแววไปทำธุรกิจ ซึ่งต้องใส่ความรู้ด้านธุรกิจให้ นักพัฒนาต้องคำนึงถึงผลงานที่ออกมาใครต้องการใช้ และยินดีจ่ายไหม รวมทั้งต้องมีกลไกบริหารจัดการ และเงินทุน
ทั้งนี้ การคัดเลือก 10 โครงการ อาจสำเร็จ 1 โครงการ สะสมไป 10 ปีก็จะได้ 10 โครงการ
"การเป็นนักเทคโนโลยีต้องบวกธุรกิจเข้าไป ปัจจุบันกำแพงเข้าตลาดไม่สูงมาก แต่คนทั่วโลกก็เข้าได้เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องหาจุดเด่นมาดำเนินการให้ได้ ถึงมีคนเรียนรู้เทคโนโลยี บริหารจัดการเทคโนโลยีเก่ง แต่หาเถ้าแก่ได้น้อย ต้องใส่ใจเรื่องรอบตัวแล้วนำมาปรุงแต่ให้เหมาะ ความต้องการคือหานักพัฒนาและนักการตลาดในคนเดียวกัน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องหาคู่หูที่ทำงานร่วมกัน"
เอไอเอสหนุนสร้างหน้าใหม่
ขณะที่ภาพรวมนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ พบว่ามีกลุ่มโปรแกรมเมอร์หรือนักพัฒนาที่สามารถตั้งตัวเป็นบริษัทเกิดใหม่ (สตาร์ทอัพ) ได้แล้วกว่า 40,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะเริ่มต้นลองสิ่งใหม่ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
โดยเฉพาะการพัฒนาโปรแกรมป้อนตลาดโมบาย แอพพลิเคชั่น ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากกระแสการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต โดยมีสถิติการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมากกว่า 1.4 พันล้านดาวน์โหลดต่อเดือนในปัจจุบัน
นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า นอกจากการร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่ 250 บริษัท เอไอเอสยังเชื่อว่า ไอเดียใหม่ๆ สามารถเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มบุคคล หรือแม้แต่นักพัฒนาเพียงคนเดียว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการ "เดอะ สตาร์ทอัพ วีคเอ็นด์" ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้ามาประกวดไอเดียโมบาย แอพพลิเคชั่นเพื่อต่อยอดเป็นบริการเชิงพาณิชย์สำหรับผู้ใช้ของเอไอเอส ซึ่งพบว่าปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมากและกำลังจะมีแอพพลิเคชั่นจากเวทีลงตลาดจริงในไม่ช้า
"เดอะ สตาร์ทอัพ ปีนี้ก็จะยังทำหน้าที่เดิมคือ เอไอเอสจะเป็นตัวกลางของการเชื่อมโยงระหว่างพันธมิตรในมุมต่างๆ ซึ่งปีนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโนเกีย ไมโครซอฟท์ หรือหน่วยงานภาครัฐ เช่น ซิป้า ร่วมกันสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ ให้ออกสู่โลกธุรกิจจริงได้ โดยที่เราจะเป็นผู้สนับสนุนทุกอย่าง เพื่อให้นักพัฒนาได้ใช้ไอเดียของตัวเองอย่างเต็มที่"
       
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น