วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ใครคือนักจัดการความรู้

นี่คือประเด็นที่สับสนกันเรื่อยมา ผมจะลองเสนอความเห็น โดยไม่ยืนยันว่าความคิดเห็นของผมจะถูกต้อง

ฟันธงเลยว่า นักจัดการความรู้มี 6 กลุ่ม หรือมากกว่านี้

“พระเอก” หรือ “นางเอก” ของการจัดการความรู้คือ “คุณกิจ” ครับ ได้แก่ผู้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน หรือเป็นชาวบ้านในชุมชน นี่คือ “นักจัดการความรู้” ตัวจริง การจัดการความรู้ใดไม่เน้นที่ “คุณกิจ” การจัดการความรู้นั้นเป็น “KM เทียม”

“คุณกิจ” คือผู้สร้างความรู้ (บันทึกเป็น “ขุมความรู้” – Knowledge Assets) ใช้ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดูดซับความรู้จากภายนอก เอามาทำให้งานของตนบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ขององค์กร และของหน่วยงาน ความรู้ที่ “คุณกิจ” สัมผัสคือความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับงาน

แนบแน่นอยู่กับ “คุณกิจ” คือ “คุณอำนวย” ทำหน้าที่ส่งเสริม เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูดซับ (capture) ความรู้จากภายนอก และการถอดความรู้จากประสบการณ์ บันทึกเป็น “ขุมความรู้” ที่ดำเนินการโดย “คุณกิจ”

เคล็ดลับก็คือ “คุณอำนวย” ไม่ใช่ผู้ทำหรือผู้ปฏิบัติ แต่เป็นผู้ “อำนวย” (facilitate) ผู้ทำหรือผู้ปฏิบัติคือ “คุณกิจ”

ผู้แสดงบทบาทสำคัญในการทำให้การจัดการความรู้ “ตรงทาง” ไม่ “หลงทาง” คือ “คุณเอื้อ (ระบบ)” หรือ CKO – Chief - Knowledge Officer) ทำหน้าที่ดูแล จัดระดมความคิดในกลุ่ม “คุณอำนวย” และ “คุณกิจ” ให้มีการกำหนดเป้าหมายของ KM ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักขององค์กร และช่วยดูแลจัดสรรทรัพยากรสำหรับใช้ในกิจกรรม KM ดูแลระบบ KM ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแลการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นวัฒนธรรมแนวราบให้มากที่สุด

นักจัดการความรู้กลุ่มที่ 4 คือ “คุณประสาน” (KM Network Coordinator) ทำหน้าที่ประสานเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างองค์กร ระหว่างพื้นที่ และระหว่าง issue
ขณะนี้ “คุณประสาน” ที่มีทักษะสูงสุดในประเทศไทยคือ คุณไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร (researchnu@hotmail.com) ใครอยากรู้ว่า “คุณประสาน” ต้องมีทักษะอะไรบ้าง ต้องทำ-ไม่ทำอะไรบ้าง โปรดถามคุณไพฑูรย์เองโดยตรงนะครับ

นักจัดการความรู้กลุ่มที่ 5 คือ “ที่ปรึกษา” (consultant) ครับ กิจกรรมจัดการความรู้เป็นกิจกรรมเชิงซ้อน มีความซับซ้อน ต้องใช้ “ความรู้” หรือทักษะมากมาย ต้องมีวิธีการ “ขับเคลื่อนพลังภายใน” หรือศักยภาพของมนุษย์ออกมาริเริ่มสร้างสรรค์งานและเรียนรู้ร่วมกัน มี “ที่ปรึกษา” หลากหลายด้านที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินการจัดการความรู้ ที่ สคส. เราพอมีรายชื่อท่านเหล่านี้อยู่บ้างพอจะให้คำแนะนำให้

นักจัดการความรู้กลุ่มที่ 6 คือ “นักวิจัย” ประเทศไทย/สังคมไทยต้องการนักวิจัยอีกมาก สำหรับเข้าไปศึกษาการจัดการความรู้ตรง “หัวใจ” ของมัน คือตรง “คุณกิจ” พฤติกรรมของ “คุณกิจ” ความคิดของ “คุณกิจ” ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “คุณกิจ” ด้วยกัน และระหว่าง “คุณกิจ” กับ “คุณ” อื่น ๆ ในระบบ KM

โจทย์วิจัยเรื่อง KM ในปัจจุบันของประเทศไทยมักจะจับผิดจุด คือมุ่งให้ไปศึกษา “ความรู้” ซึ่งไม่ใช่หัวใจของ KM หัวใจของ KM คือตัวปฏิสัมพันธ์ พฤติกรรม ความคิด วิธีการ การกระทำ ที่วนอยู่รอบ ๆ “งาน”

สรุปว่า การมอง “นักจัดการความรู้” แบบ “ลัทธิปัจเจก” จะไม่ถูกต้อง ต้องมอง “นักจัดการความรู้” เป็นทีมหรือกองทัพ ที่ประกอบด้วย “กำลังพล” หลายแบบหลายระดับ ทำหน้าที่หลากหลายหน้าที่ อย่างสอดคล้องเสริมพลัง (synergy) กัน

มองอีกมุมหนึ่ง “นักจัดการความรู้” เป็นเหมือนนักดนตรีในวงดุริยางค์ คือเล่นเครื่องดนตรีคนละชิ้น ทำคนละหน้าที่ แต่ประสานกันเป็นเพลงที่ไพเราะ---ดนตรีแห่งการจัดการความรู้

ที่มา :http://blog-for-thai-km.blogspot.com/2005/02/blog-post_21.html
ผู้แต่ง :วิจารณ์ พานิช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น